วันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2553

โครงการสืบสานวัฒนธรรมศิลปเมืองนักปราชญ์ราชธานี



หลักการและเหตุผล


สืบเนื่องจาก โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชได้เปิดทำการสอนมาอย่างยาวนานจนถึง พ.ศ. 2477 ก็ประสบปัญหาสถานที่เรียนคับแคบอีกครั้ง เนื่องจากโรงเรียนได้ขยายชั้นเรียนและรับนักเรียนเพิ่มขึ้นจนล้นโรงเรียน ทางโรงเรียนจึงได้แบ่งนักเรียนชั้นต้นๆ แยกไปเรียนที่อื่น โดยใช้อาคารสโมสรเสือป่าเก่า (ตั้งอยู่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวเป็นสถานที่เรียน ส่วนนักเรียนชั้นปลายยังคงเรียนอยู่ในที่เดิม ก่อให้เกิดไม่สะดวกในการปกครองและการดูแลการเรียนการสอน ต่อมาจังหวัดอุบลราชธานีได้รับงบประมาณจากทางราชการกว่า 4 หมื่นบาท เพื่อจัดสร้างอาคารเรียนหลังใหม่เพิ่มเติมในบริเวณกรมทหารเก่า (ซึ่งย้ายไปตั้งอยู่ที่อำเภอวารินชำราบ) ทางทิศตะวันตกของทุ่งศรีเมือง หรือด้านหลังของศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน โรงเรียนแห่งนี้มีเนื้อที่ราว 40 กว่าไร่ ทิศเหนือจรดถนนเบ็ญจะมะและวัดชัยมงคล ทิศใต้จรดถนนศรีณรงค์และวัดศรีอุบลรัตนาราม ทิศตะวันออกจรดถนนอุปราชและทุ่งศรีเมือง ทิศตะวันตกจรดบ้านประชาชนและป่าช้าโรมันคาทอลิก ตัวอาคารเรียนหลักเป็นอาคารเรียนไม้ 2 ชั้น ขนาด 20 ห้องเรียน ตั้งอยู่ตรงกลางของพื้นที่ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีสนามและเสาธงขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนพูนดินมีขาเสาธงสี่ขาตั้งอยู่หน้าอาคารเรียน เมื่อสร้างเสร็จโรงเรียนแห่งใหม่แล้วเสร็จ พระสารศาสตร์ประพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น มาเป็นประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2478 ในนามโรงเรียน "เบ็ญจะมะมหาราช" และได้เปิดสอนอยู่ในที่ตั้งแห่งนี้จนถึง พ.ศ. 2516 โรงเรียนจึงได้ย้ายที่ตั้งอีกครั้งมาอยู่ในที่ตั้งปัจจุบัน ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว โรงเรียนได้เปิดสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษา แผนกวิทยาศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2489 และในปี พ.ศ. 2503 จึงเริ่มใช้หลักสูตรมัธยมศึกษา ตามแผนการศึกษาชาติ พุทธศักราช 2503
อาคารเรียนโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ที่ถูกขึ้นสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2477 ข้างต้นนั้น เป็นไม้สักทั้งหลัง ประวัติศาสตร์ของอาคารเรียนหลังนี้ได้ควบคู่มากับประวัติศาสตร์ของเมืองอุบลราชธานี ในช่วงเกือบหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมาพอๆ กับอายุของตัวอาคาร เช่น เรื่อง ขบวนการเสรีไทยในอีสาน เรื่อง บุคคล ตลอดจนการพัฒนาการศึกษาและอื่นๆ เป็นต้น ทั้งนี้ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินอาคารหลังเดิม (อาคารไม้ 2 ชั้น หลังศาลากลางจังหวัดปัจจุบัน) ของโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช เป็นโบราณสถานเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2545 โดยปัจจุบันได้มีการบูรณะอาคารดังกล่าวเพื่อสามารถใช้งานได้ในวาระต่างๆ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การใช้อาคารเก่าโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อจังหวัดอุบลราชธานีและประเทศชาติ จึงเห็นควรพิจารณาจัดทำโครงการสืบสานวัฒนธรรมศิลปเมืองนักปราชญ์ราชธานี ณ อาคารดังกล่าว โดยอาจจะดำเนินการในลักษณะใช้เป็นสถานที่สำหรับรวบรวมเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมศิลปเมืองนักปราชญ์ราชธานีในรูปแบบสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ หอจดหมายเหตุแห่งอุบลราชธานีเมืองนักปราชญ์ อื่นๆ ตามที่ประชาคมของชาวจังหวัดอุบลราชธานีได้ร่วมมือร่วมใจนำเสนอ

วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาอาคารเก่าโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช เป็นศูนย์กลางในการสืบสานวัฒนธรรมศิลปเมืองนักปราชญ์ราชธานี
2. เพื่อพัฒนาอาคารดังกล่าวเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการศึกษาจังหวัดอุบลราชธานีและแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมศิลปจังหวัดอุบลราชธานีในรูปแบบที่ทันสมัย
3. เพื่อพัฒนาอาคารดังกล่าวเป็นแหล่งรวบรวมจดหมายเหตุแห่งอุบลราชธานีเมืองนักปราชญ์
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ทำให้จังหวัดอุบลราชธานีมีศูนย์กลางในการสืบสานศิลปวัฒนธรรมเมืองนักปราชญ์ราชธานี
2. ทำให้มีสถานที่สำหรับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการศึกษาจังหวัดอุบลราชธานีและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานีในรูปแบบที่ทันสมัย
3. ทำให้สถานที่สำหรับรวบรวมจดหมายเหตุแห่งอุบลราชธานีเมืองนักปราชญ์
4. ทำให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมศิลปเมืองนักปราชญ์ราชธานีอย่างยั่งยืน
หน่วยงานที่รับผิดชอบ
1. จังหวัดอุบลราชธานี
2. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
3. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
4. องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี
5. เทศบาลนครอุบลราชธานี
6. สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี
7. กรมศิลปากร
8. สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช และโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช
9. ส่วนราชการอื่นๆ
10. ภาคเอกชน ภาคประชาชน
หมายเหตุ
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นหน่วยงานกลางในการประสานดำเนินการ และเป็นฝ่ายเลขานุการดำเนินงาน
งบประมาณ1. งบดำเนินการ
ค่าจ้าง
- เจ้าหน้าที่ประสานงาน
- เจ้าหน้าที่อื่นๆ
- ระบบรักษาความปลอดภัย (จังหวัดอุบลราชธานี)
ค่าวัสดุเอกสาร
2. งบลงทุน
- ระบบสาธารณูปโภค ไฟ้ฟ้า ประปา โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต (เทศบาลนครอุบลราชธานี)
- ระบบการแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี และแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมศิลปะจังหวัดอุบลราชธานีในรูปแบบที่ทันสมัย (องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี)
- ครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์
หมายเหตุ แหล่งเงินงบประมาณสนับสนุน
- สำนักงบประมาณ
- จังหวัดอุบลราชธานี
- องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี
- เทศบาลนครอุบลราชธานี

วิธีการในเบื้องต้น
1. จัดระดมความคิดเห็นสร้างความเข้าใจในการจัดทำโครงการ
2. ปรับปรุงโครงการเพื่อนำเสนอต่อสำนักงบประมาณ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น