วันจันทร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2557

รศ.ดร.อดุลย์ อภินันทร์ กับเรื่องน้ำฝึ้ง

เรื่องราวต่อไปนี้ เป็นการบันทึกช่วยจำเกี่ยวกับ "รศ.ดร.อดุลย์ อภินันทร์ กับเรื่องน้ำฝึ้ง" รศ.ดร.อดุลย์ อภินันท์ อดีตคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ทรงคุณวุฒิ) 

       เรื่องเดือนมีนาคม ๒๕๕๗ หลังจากเย็นวันหนึ่งของงานสวดพระอภิธรรมของท่าน ผศ.ดร.วสุ อมฤตสุทธิ์ ที่วัดผาสุการาม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ผมได้รับเกียรติจากท่าน รศ.ดร.อดุลย์ อภินันท์ เชิญไปร่วมรับประทานอาหารเย็นต่อ เพื่อให้ง่ายต่อการบันทึก ผมขออนุญาตเรียกท่าน รศ.ดร.อดุลย์ อภินันท์ ว่า "ท่าน" ก็แล้วกันนะครับ    เมื่อได้มีโอกาสได้พูดคุยกับท่าน ท่านก็สอบถามผมว่า   "ทำไมวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมาในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงไม่มีพิธีถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลฯ แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี"

หมายเหตุ ท่านได้ร่วมบริจาคเงินเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลฯ มาแล้วเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๔ และ ๓ เมษายน ๒๕๕๖ ตามลำดับ (ซึ่งเป็นวันพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) 

ผมได้นำเรียนท่านว่า เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมานั้น หลังจากพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแล้ว ผมในฐานะประธานสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำกัด ได้ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลฯ เช่นเดียวกันครับ แต่เป็นในนามของคณะกรรมการสหกรณ์ออมทร้พย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นจำนวนเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท  แล้วท่านก็ถามผมต่อว่า "แล้วทำไมมหาวิทยาลัยไม่จัดให้มีการถวายเงินละ"  ผมตอบไปว่า "อันนี้ก็ไม่ทราบเหมือนกัน ครับ" 




          มาถึงตอนนี้ ท่านได้เล่าให้ผมฟังว่า เมื่อครั้งหลายสิบปีก่อนขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยที่ผ่านมาก่อนหน้านั้น คณะเกษตรศาสตร์ได้ถวาย "น้ำผึ้ง" แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ เนื่องในวโรกาสพระองค์เสด็จพระราชทานดำเนินฯ พระราชทานปริญญาบัตรให้กับบัณฑิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น และในปีนั้นปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงตรัสถามว่า "ปีนี้ ผึ้งขี้เกียจ หรือ ผึ้งประท้วงเหรอ"  เมื่อเป็นดังนั้นทำให้ผู้ใหญ่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นต้องรีบหาน้ำผึ้งของคณะเกษตรศาสตร์กันยกใหญ่ แต่ก็ไม่สามารถจัดหาไปถวายได้เนื่องจากไม่ได้จัดเตรียมไว้ทัน และในปีต่อมา พิธีพระราชทานปริญญาบัตรฯ คณะเกษตรศาสตร์ ได้จัดเตรียมน้ำผึ้งเพื่อถวายเช่นเคย  และเช่นเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงตรัสว่า "ปีนี้ ผึ้งเลิกขี้เกียจ เลิกประท้วงกันแล้วเหรอ"

เมื่อท่าน รศ.ดร.อดุลย์ เล่าถึงตอนนี้ ท่านได้ให้ข้อคิดว่า "อันไหนดีๆ แล้ว เราก็ควรทำกระทำเป็นประจำและทำให้ดียิ่งขึ้นๆ เหมือนกันกับพิธีถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลฯ เป็นต้น"

ครับที่ผมบันทึกเรื่องราวนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงสั้นๆ ของค่ำคืนหนึ่งที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับท่าน รศ.ดร.อดุลย์ ก็ทำให้ผมได้รับสิ่งดีๆ ได้ข้อคิดที่สำคัญในการใช้ชีวิตในการทำงาน นับได้ว่าเป็นบุญอย่างยิ่งครับ  

มณูญพงศ์ ศรีวิรัตน์
ผู้บันทึก 
๒๙ เมษายน ๒๕๕๗ 


 

วันพุธที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2557

ความเป็นมาของสถานีบริการน้ำมัน ม.ุอุบลฯ

      เนื่องจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีห่างจากตัวอำเภอวารินชำราบกว่า ๙ กิโลเมตร (ห่างจากตัวจังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร) ทำให้ที่ผ่านมาในอดีตบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเวลาที่จะต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจำเป็นอย่างยิ่งในการเดินทางไปกลับเกือบ ๒๐ กิโลเมตร  ทั้งนี้ เมื่อการประชุมสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ครั้งที่ ๗/๒๕๓๔ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ ระเบียบวาระที่ ๕.๑ ได้เห็นชอบโครงการจัดตั้งธนาคาร ปั้มน้ำมัน ร้านอาหาร ในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (อ้างอิงที่ http://www.lib.ubu.ac.th/archive_ubu/data/sp2534-7.pdf)



    อย่างไรก็ตาม ในช่วงเริ่มต้นดำเนินงานของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีอาจจะยังมีจำนวนบุคลากรและนักศึกษาจำนวนไม่มากนัก ทำให้การลงทุนจัดตั้งธนาคาร ปั้มน้ำมัน ร้านอาหาร ภาคเอกชนอาจจะยังไม่มีความพร้อมในเรื่องประเด็นความุคุ้มค่าในการลงทุน จวบจนต่อมาเมื่อได้มีการประกาศใช้ "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ.๒๕๔๗"  ทำให้ส่วนราชการต่างๆ เริ่มมีการดำเนินการจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันในหน่วยงานราชการ  ตัวอย่างเช่น พ.ศ.๒๕๕๐  มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี (ที่มี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นในฐานะสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพรชบุรี) ได้ดำเนินโครงการสร้างสถานีบริการน้ำมัน (อ้างอิงที่ http://www.thaipr.net/general/139991 ) 


     กล่าวสำหรับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๗/๒๕๕๐ วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ระเบียบวาระที่ ๕.๘ ได้เห็นชอบให้จัดตั้งสถานีบริการน้ำมัน (อ้างอิงที่ http://www.ubu.ac.th/~councilubu/report/120080626150041.pdf )     






และต่อมาที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๕/๒๕๕๒ วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒ (หน้า ๓) ได้กำหนดแนวทางแผนการจัดหารายได้ เกี่ยวกับประเด็นการใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยให้เกิดประโยชน์สูงสุด



   จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าการดำเนินงานในส่วนของการจัดสร้างสถานีบริการน้ำมัน (เพื่อสวัสดิการ ม.อุบลฯ) นั้น เป็นการดำเนินงานที่สอดรับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ (พ.ศ.๒๕๔๗) เป็นการดำเนินงานตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (พ.ศ.๒๕๓๔) และมีมติสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (พ.ศ.๒๕๕๐) รองรับในการดำเนินงาน  นอกจากนั้น เป็นการก่อเกิดรายได้ตามที่สภามหาวิทยาลัย (พ.ศ.๒๕๕๒) ได้ให้นโยบายไว้ ทั้งนี้ รายได้ที่เกิดขึ้นจะเป็นงบประมาณสำหรับการจัดสวัสดิการให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีอันเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ.๒๕๔๗ และที่สำคัญ คือ ทำให้นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้รับประโยชน์จากการใช้บริการที่ไม่ต้องเสียเวลาและงบประมาณในการเดินทางไปกลับระหว่างมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกับอำเภอวารินชำราบในการใช้บริการสถานีน้ำมัน ก่อให้เกิดความปลอดภัยและประหยัด นอกจากนั้น ประชาชนทั่วไปใกล้กับบริเวณมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีก็ได้รับประโยชน์จากสถานีบริการน้ำมันดังกล่าว

มณูญพงศ์ ศรีวิรัตน์
ผู้บันทึกเรื่องราว
อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (พ.ศ.๒๕๔๕-๒๕๕๕)


วันพุธที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2557

บ้านพระพร ณ อุบลราชธานี

-->
         สิ่งที่ได้รับจากบ้านพระพร  (มูลนิธิพระพรอุบลราชธานี http://bless-ubon.org/index.php/ติดต่อเรา-contact.html) ในวันนี้  ทำให้ทราบว่า ณ จังหวัดอุบลราชธานี มีสถานที่การกุศลอีกแห่งหนึ่งที่ให้ความดูแลเด็กกำพร้าที่มาจากที่อื่นๆ ไม่ใช่จังหวัดอุบลราชธานีอย่างเดียวสิ่งหนึ่งที่คุณแม่ (ทั้งสองท่าน ณ บ้านพระพร) ได้อุทิศตนทำให้ทราบว่า จิตอาสาจิตที่เป็นผู้ให้นั้นเป็นอย่างไร เด็กๆ เหล่านี้ ๑๘ คน พวกเขาไม่มีความผิดในการได้เกิดมา เพียงแต่พวกเขาไม่มีโอกาสที่จะได้อยู่กับบิดามารดาผู้ให้กำเนิด อาจจะด้วยเหตุผลบางประการ 


ตัวอย่างที่เห็นในรูปภาพ เด็กเล็กทั้งคู่ฝาแฝดกัน “น้องเบส กับ น้องบอล” ก็เป็นส่วนหนึ่งของที่นี่บ้านพระพร นับโชคดีที่ยังมีแม่ตัวจริงอยู่ด้วย ซึ่งจะคอยดูแลอย่างใกล้ชิดด้วยความรู้สึกของความเป็นแม่ ถึงแม้ว่าโชคชะตาจะนำพาให้น้องเบสน้องบอลได้เกิดมาโดยที่ไม่มีครอบครัวที่สมบูรณ์เหมือนคนอื่น (แต่ผมก็เชื่อว่า ทั้งน้องเบสและน้องบอล จะสามารถผ่านไปได้อย่างแน่นอน ถ้าท่านไม่เชื่อผม อีก ๒๐ ปี กลับมาอ่านบทความนี้อีกครั้งหนึ่งนะครับ)

(น้องเบสและน้องบอล กับคุณแม่พระพรและคุณแม่ของเบสบอล)

คุณแม่สอนให้เด็กทุกคนมีวินัยร่วมกัน อยู่ร่วมกันด้วยความรักซึ่งกันและกันให้ความเอื้อเฟื้อต่อกัน  และที่สำคัญคือ จะต้องให้การศึกษากับเด็กทุกๆ คน จนกว่าพวกเขาเหล่านี้จะสามารถเลี้ยงตัวเองได้  ซึ่งสิ่งที่ผมได้พูดคุยกับคุณแม่พระพรในวันนี้ คือ เด็กทุกคนที่กำลังเรียนศึกษาในโรงเรียนต่างๆ (ระดับต่างๆ) เช่น โรงเรียนเทพพิทักษ์พิทยา (เอกชน) โรงเรียนวิจิตราพิทยา (รัฐ) และวิทยาลัยสารพัดช่าง นั้น โดยการเรียนสมัยนี้ นักเรียนทุกคนจะต้องทำรายงานส่งครูโดยใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่ง ณ บ้านพระพร แห่งนี้มีเครื่องคอมพิวเตอร์ อยู่ ๒ – ๓ เครื่องแต่ใช้ได้เครื่องเดียวเท่านั้น โดยในแต่ละคืนคุณแม่จะต้องมาจัดการใช้คอมพิวเตอร์ให้ลูกๆ เหล่านี้เพื่อได้ทำรายงานส่งครูที่โรงเรียน โดยจะอนุญาตให้ใช้ไม่เกินคนละ ๓๐ นาที (ผมก็เลยคิดว่า แล้วหนึ่งคืนมันมีกี่ชั่วโมงกันละนี่)  ก็เลยบอกคุณแม่ไปว่า หากมีโอกาสผมจะลองขอเครื่องคอมพิวเตอร์ของคณะวิทยาศาสตร์ ม.อุบลฯ มาให้ที่บ้านพระพร


สำหรับการเดินทางไปโรงเรียนของเด็กที่นี้ หากเป็นเด็กเล็กชั้นประถมซึ่งจะเรียนที่โรงเรียนเทพพิทักษ์พิทยา คุณแม่ก็จะขับรถสามล้อไปส่งเนื่องจากโรงเรียนดังกล่าวไม่ไกลจากบ้านพระพรมากนัก ส่วนเด็กโตที่จะต้องเรียนที่โรงเรียนวิจิตรพิทยาก็ให้นั่งรถประจำทาง (วิ่งระหว่างวารินชำราบ-พิบูลมังสาหาร) อย่างไรก็ตาม เวลาหน้าฝนจะเป็นปัญหาอย่างมาก เพราะถนนทางเข้าบ้านพระพรเป็นถนนดินหินลูกรัง ฝนตกลงมาเรียบร้อยหมดน้ำท่วม (ประมาณเกือบครึ่งหน้าแข้งเห็นจะได้) เด็กๆ ก็จะต้องเดินลุยออกไปปากทางถนนใหญ่แล้วค่อยไปใส่ถุงเท้ารองเท้าแล้วไปโรงเรียน โดยที่ผ่านมานักการเมืองท้องถิ่นเวลาจะเลือกตั้งก็สัญญาว่าจะมาดำเนินการให้  แต่พอเลือกตั้งแล้วก็หายหน้าไปหมด (อันนี้น่าจะเป็นธรรมชาติของนักการเมืองไทย)
นอกจากนั้น คุณแม่ยังได้ให้ข้อมูลว่า เด็กทุกคนจะมีปัญหาเรื่องการเจ็บป่วยไข้ แต่ก็ยังโชคดีหน่อยที่มีบัตรทอง ๓๐ บาทรักษาทุกโรคได้ช่วยเหลือ แต่ว่าบางครั้งที่ลูกๆ เจ็บป่วยตอนกลางคืน การเดินทางไปโรงพยาบาลค่อนข้างจะลำบาก เนื่องจากสามล้อเครื่องที่มีอยู่ก็ไม่สะดวกสบายเท่าที่ควร แต่คุณแม่ยังเล่าก็ยังดีกว่าเมื่อก่อนที่มีเพียงมอเตอร์ไชต์เท่านั้น  



อีกอย่างหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นคือ เวลาท่านข้าวเด็กทุกคนจะมีช้อนรับประทานอาหารเป็นของตนเอง ดังนั้น สิ่งนี้ผมคิดว่าเป็นการฝึกฝนให้ลูกๆ  คือ "ให้เป็นคนที่มีความรับผิดชอบ" (เพราะหากใครทำช้อนหาย ก็คงไม่ได้ทานข้าวอย่างแน่นอน) ดังรูปภาพข้างล่างนี้


        สิ่งหนึ่งที่คุณแม่พระพรได้ฝากผมไว้   คือ อยากให้ลูกๆ เด็กๆ พวกนี้ได้มีโอกาส โอกาสที่ดีในการศึกษาในระดับที่พวกเขาเหล่านี้จะมีศักยภาพ  และหากมีผู้มีจิตศรัทธาจะบริจาคเรื่องหนังสือ ขอเป็นหนังสือทางวิชาการ (การ์ตูนไม่เอานะครับ บันเทิงก็ไม่เอา) เพื่อลูกๆ เด็กๆ จะได้อ่านเพิ่มเติมความรู้ให้ได้มากที่สุด

        และอีกสิ่งหนึ่งคุณแม่แห่งบ้านพระพรได้กำหนดไว้คือ เด็กทุกคนจะไม่ให้โทรศัพท์ถึงแม้ว่าจะมีญาตินำมาให้ก็ตามแต่ ผมก็เลยถามกลับว่า “ทำไมละครับคุณแม่”  คุณแม่ได้อธิบายเพิ่มเติม “ว่าโทรศัพท์ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นของเด็กในบ้านพระพร เพราะจะทำให้พวกเขาเสียเวลากับเรื่องของโทรศัพท์” ผมก็เลยไม่ถามต่อครับ

       สุดท้าย ที่ผมจะขออนุญาตสรุปอีกครั้ง คือ ณ บ้านพระพร เป็นบ้านที่ได้ให้ความอบอุ่นสำหรับเด็กที่ไม่มีโอกาสที่ดีเหมือนกับพวกเรา  ดังนั้น หากเป็นไปได้ท่านใดที่อยู่วารินชำราบ หรือ อุบลราชธานี หากวันหยุดท่านไม่มีที่ไป ลองไปที่แห่งนี้นะครับ แล้วท่านจะพบว่า “ชีวิตของคนเรานั้นมีค่าอย่างมาก หากมีโอกาสก็ลองให้โอกาสกับพวกเขาเหล่านี้” นะครับ  

ชีวิตคนมีค่า   ลองนำพาหาโอกาส
เสริมสร้างความสามารถ   บริจาคช่วยเหลือคน

โอกาสไม่เหมือนกัน  หากช่วยกันย่อมหลุดพ้น
ชีวิตต้องดิ้นรน ต้องอดทนรับผิดชอบ

มามืดไปสว่าง สร้างหนทางตามที่ชอบ
ทุกอย่างจิตสั่งบอก  คิดรอบคอบจะสุขเอย


มณูญพงศ์ ศรีวิรัตน์
๒ เมษายน ๒๕๕๗

หมายเหตุ 
๒ เมษายน ๒๕๕๗ ทำบุญ ณ บ้านพระพร
ขอเรียนเชิญทำบุญเลี้ยงอาหารกลางวันเด็กที่บ้านพระพร ในวัน ๒ เมษายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๑.๓๐ น. เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในคล้ายวันพระราชสมภพพระองค์ท่าน 
ดูรูปภาพประกอบเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/mpsrivirat/media_set?set=a.680419468671028.1073742089.100001089437635&type=1