วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553

ค่ำคืนสุดท้ายที่ ม.อุบลฯ (๓๐ กันยายน)


ทุกท่านที่เคารพคงจะเห็นรูปภาพข้างบนเป็นรูปที่ของอาคารบริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เวลา ๑๘.๐๐ น. ของวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นวันที่ผู้เขียนได้ทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้บริหาร (รองอธิการบดี) ที่ดูแลการวางแผนการจัดทำงบประมาณของมหาวิทยาลัย จะได้สิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งมาเป็นระยะ ๘ ปี แล้วมันเกี่ยวกับอะไรกับชื่อเรื่องที่ว่า ค่ำคืนสุดท้ายที่ ม.อุบลฯ และรูปภาพดังกล่าว

แน่นอนครับ ชีวิตการทำงานไม่ว่าจะหน้าที่อะไรก็ตามแต่ เราไม่สามารถที่ดำรงคงอยู่ได้ตลอดไปยั่งยืนหรือจีรัง ทุกสิ่งทุกอย่างมีขึ้นแล้วย่อมมีลงเป็นเรื่องของกฎธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ไม่ว่าจะเป็นใครหน้าไหน

รูปภาพดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่าแสงสว่างกำลังจะลับลาจากโลกใบนี้ความมืดมนจะกลับมาอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ระหว่างแสงสว่างและความมืดที่กำลังจะมาก็ยังมีความสวยงามจากสิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นก้อนเมฆ ซึ่งถึงแม้ว่าเมฆดังกล่าวจะไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยก็ตาม แต่ก็เป็นความสวยงามของความไม่เป็นระเบียบ ก็เหมือนชีวิตของคนเราที่บางครั้งเราอาจจะทำงานบางเรื่องบางอย่างไม่ได้เป็นระเบียบมีระเบียบ แต่ก็ยังเป็นส่วนที่เราจะต้องทำต่อไปและมันก็มีความงดงามของการทำงานในชีวิตของคนเรา ที่บางครั้งเราอาจจะมีบางที่ไม่มีสติ แต่เราจะไม่ยอมให้ไม่มีสติตลอดไป

ดั่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ค่ำคืนนี้ (๓๐ กันยายน ๒๕๕๓) เป็นวันที่ผู้เขียนจะต้องลาแล้วในตำแหน่งดังกล่าว ที่ผ่านมาก็ได้ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเองก็คิดว่ามีหลายๆ เรื่องนั้นมีข้อผิดพลาดบกพร่องพอสมควร แน่นอนครับมนุษย์เราย่อมมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อรู้ว่ามันผิดเราต้องเรียนรู้เพื่อไม่ทำผิดอีกครั้ง เหมือนกับผิดแล้วย่อมจะต้องทำถูกอีกครั้งอย่างแน่นอน ซึ่งก็คล้ายกับค่ำคืนนี้ถึงแม้ว่ามันกำลังจะมืดก็ตามแต่ มันก็ย่อมจะกลับมาสว่างอีกครั้งอย่างแน่นอน เพียงแต่อาจจะต้องใช้เวลาเท่านั้นเอง

ก็หวังว่าค่ำคืนนี้จะเป็นค่ำคืนที่มีความสุขสำหรับหลายๆ ท่านเพราะจะได้หมดภาระหน้าที่การงานที่ทำอยู่ วันพรุ่งนี้ท่านก็กลายเป็นคนที่ไม่ต้องมีงานทำ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรในภาระหน้าที่ที่เคยทำมา อย่างไรก็ตาม ท่านก็ย่อมมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่งอย่างแน่นอน คือ ทำหน้าที่เป็นคนดีของครอบครัว ของสังคม ของประเทศชาติต่อไป

ค่ำคืนนี้คืนสุดท้าย ถึงแม้ว่ามันกำลังจะมืดลง แต่มันก็จะเริ่มสว่างในวันพรุ่งนี้ ค่ำคืนนี้ก็เพียงเรื่องที่สมมติว่า วันสุดท้าย เท่านั้นครับ เราจะต้องต่อสู้ต่อไปจนกว่าเราจะจากโลกใบนี้ไป และการต่อสู้นี้ เราจะต้องสู้ให้เหมือนกับก้อนเมฆ (ตามรูปภาพข้างต้น) คือ มีความนุ่มนวลในการใช้ชีวิตปรับเปลี่ยนไปตามสภาพของความเป็นจริง ชีวิตของเราก็ย่อมจะเดินหน้าต่อไป แต่เราควรจะมีความทรงจำที่ดี ร่วมกันทำความดี เพื่อแผ่นดิน
มนูญ ศรีวิรัตน์



และวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๕ ได้หมดภาระหน้าที่จากตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและชุมชนสัมพันธ์ (สนใจอ่านเกี่ยวกับคำว่า "รอง")มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่ที่ดีที่สุด (ในความคิดของตัวเอง)ซึ่งได้มีโอกาสอยู่ที่ ม.อุบลฯ มากว่า ๒๐ ปี (สนใจอ่านเกี่ยวกับ "ข้าพเจ้า (อจต.) กับ ม.อุบลฯ 20 ปี")อย่างไรก็ดี อาจจะไม่ดีในอีกมุมหนึ่งของท่านอื่นๆ ก็ได้ แต่นี่คือความสวยงามของการดำรงชีวิตและการทำงานในหน้าที่ เพราะจะต้องมีคนที่เห็นด้วยไม่เห็นด้วย แต่เราก็จะต้องพยายามตามหัวโขนที่เราได้ใส่ไว้ให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ (สนใจอ่านเรื่องเกี่ยวกับโขนเชิญได้ที่ "โขน หรือ หัวโขน")ก็เอาเป็นว่า เรื่องที่สมมติได้ผ่านพ้นไปแล้ว เรื่องจริงกลับเข้ามาแทนที่ เรื่องที่จริงที่ว่า คือ เรื่องของเวลาไม่เคยคอยใคร เวลาจะต้องเดินหน้าต่อไป (สนใจอ่านเรื่องเกี่ยวกับเวลาเชิญได้ที่ "ข้าเวลา ฆ่าเวลา ค่าเวลา")เพื่อความมั่นคงต่อไป (สนใจอ่านเรื่องเกี่ยวกับมั่นคง "มั่นคง (ความมั่นคง ในชีวิต)"

ด้วยความเคารพมณูญพงศ์ ศรีวิรัตน์ (อจต.)








วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553

ความทรงจำดีๆ ร่วมทำความดี เพื่อแผ่นดิน

ช่วงนี้เดือนนี้ เดือนกันยายนของทุกๆ ปี เป็นช่วงเวลาที่ผู้รับราชการที่มีอายุ ๖๐ ปี จะต้องอำลาชีวิตการทำงาน ข้าราชการบางท่านรับราชการทำงานมาตั้งแต่อายุไม่ถึง ๒๐ หรือ ๒๐ ต้นๆ ได้ทำงานเพื่อบ้านเมืองมาเป็นระยะยาวนานนับสิบหลายสิบปี คุณงามความดีของท่านเหล่านั้นมีประโยชน์อย่างคณาประการต่อการพัฒนาประเทศชาติ ไม่ว่าท่านเหล่านั้นจะปฏิบัติหน้าที่ในด้านใดก็ตามแต่



ที่ผ่านมาข้าราชการของหน่วยงานต่างๆ จะต้องมีความทรงจำที่ทั้งดีและไม่ดีต่อผู้ร่วมงานไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใต้บังคับบัญชา สำหรับความทรงจำที่ไม่ดีนั้นก็อาจจะเกิดจากอารมณ์ เพราะเมื่อไรก็ตามที่เรามีอารมณ์ในการทำงาน ตัวอารมณ์นี้แหละจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีทำให้เราไม่มีสติต่อผู้ร่วมงานได้ ดังนั้น อย่าให้อารมณ์มาควบคุมสติของเราไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่ (จะเป็นข้าราชการหรือประกอบอาชีพใดก็ตามแต่) เราต้องใช้สติมาควบคุมอารมณ์

ด้วยเหตุนี้ ความทรงจำที่ไม่ดีดังกล่าว ผู้เขียนก็เชื่อว่าเราทุกคนไม่จะจดจำนำมาใส่ใจใส่สมอง ในทางตรงกันข้าม หากข้าราชการมีความทรงจำที่ดีกับเพื่อนร่วมงานกับหน่วยงาน ซึ่งความทรงจำที่ดีก็เกิดจากความรู้สึกที่ดีต่อกันช่วยกันทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ลุล่วง นั้นมันก็หมายถึง ร่วมกันทำความดีต่อหน่วยงานต่อสังคม ต่อประเทศไทย เพื่อแผ่นดิน จึงเป็นที่มาของชื่อเรื่องที่เกี่ยวกับเดือนกันยายน ที่ว่า "ความทรงจำดีๆ ร่วมกันทำความดี เพื่อแผ่นดิน"

สำหรับผู้เขียนเอง ยังมีเวลาทำงานเพื่อราชการอีกพอสมควร ที่ผ่านมาก็ได้ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในระดับหนึ่ง ซึ่งยังมีส่วนที่จะต้องปรับปรุงตัวเองอีกมากพอสมควร แต่สิ่งหนึ่งที่คิดว่าเกี่ยวกับเดือนกันยายน ก็เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ที่รับผิดชอบไปต่างที่เป็นมา แต่ชีวิตของมนุษย์เราทุกคนนั้น ก็จะต้องเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อการเปลี่ยนแปลง เพราะในโลกใบนี้ของเรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น เราก็ควรจะต้องปรับตามสิ่งที่เปลี่ยนไปเช่นกัน เพราะไม่มีอะไรที่จะจีรังยังยืน ทุกสิ่งทุกอย่างมีเกิดแล้วมีดับ มีเริ่มต้นก็จะต้องมีสิ้นสุด เมื่อสิ้นสุดก็จะต้องเริ่มใหม่ ที่เรียกว่าเป็น วัฏจักร

ขอกลับมาที่เรื่อง ความทรงจำดีๆ ร่วมกันทำความดี เพื่อแผ่นดิน เมื่อไรก็ตามถ้าหากข้าราชการไทยเราลองเอาแผ่นดินไทยของเราเป็นตัวตั้ง แล้วทำความดีต่อหน้าที่การงานที่รับผิดชอบ ผู้เขียนเชื่อว่า จะเกิดความทรงจำที่ดีๆ ต่อข้าราชการผู้นั้นอย่างแน่นอน นั้นหมายความว่า ทำอะไรก็แล้วแต่เรามองหรือเอาเป้าหมายที่เป็นแผ่นดินประเทศชาติเป็นหลักในการทำงาน การปฏิบัติงาน หรือทำการใดๆ ก็ตามแต่แล้ว ข้าราชการผู้นั้นก็จะอยู่ในความทรงจำของแผ่นดินประเทศชาติเช่นกัน

สุดท้ายสำหรับเดือนกันยายนนี้ ขออวยพรให้ข้าราชการไทยทุกท่านที่จะยุติการปฏิบัติงานในหน้าที่ของท่านได้รับความทรงจำที่ดีๆ และร่วมกันทำความดีเพื่อแผ่นดินต่อไป ถึงแม้ว่าอายุที่จะทำให้ท่านต้องยุติหน้าที่มันเป็นการสมมติขึ้นมาเพียงเท่านั้น หลังจากนี้ ท่านสามารถที่จะทำความดีเพื่อแผ่นดินในด้านอื่นๆ ได้เช่นกัน ขอให้กำลังใจข้าราชการ ข้าของแผ่นดินทุกท่าน

มนูญ ศรีวิรัตน์

วันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2553

โครงการสืบสานวัฒนธรรมศิลปเมืองนักปราชญ์ราชธานี



หลักการและเหตุผล


สืบเนื่องจาก โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชได้เปิดทำการสอนมาอย่างยาวนานจนถึง พ.ศ. 2477 ก็ประสบปัญหาสถานที่เรียนคับแคบอีกครั้ง เนื่องจากโรงเรียนได้ขยายชั้นเรียนและรับนักเรียนเพิ่มขึ้นจนล้นโรงเรียน ทางโรงเรียนจึงได้แบ่งนักเรียนชั้นต้นๆ แยกไปเรียนที่อื่น โดยใช้อาคารสโมสรเสือป่าเก่า (ตั้งอยู่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวเป็นสถานที่เรียน ส่วนนักเรียนชั้นปลายยังคงเรียนอยู่ในที่เดิม ก่อให้เกิดไม่สะดวกในการปกครองและการดูแลการเรียนการสอน ต่อมาจังหวัดอุบลราชธานีได้รับงบประมาณจากทางราชการกว่า 4 หมื่นบาท เพื่อจัดสร้างอาคารเรียนหลังใหม่เพิ่มเติมในบริเวณกรมทหารเก่า (ซึ่งย้ายไปตั้งอยู่ที่อำเภอวารินชำราบ) ทางทิศตะวันตกของทุ่งศรีเมือง หรือด้านหลังของศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน โรงเรียนแห่งนี้มีเนื้อที่ราว 40 กว่าไร่ ทิศเหนือจรดถนนเบ็ญจะมะและวัดชัยมงคล ทิศใต้จรดถนนศรีณรงค์และวัดศรีอุบลรัตนาราม ทิศตะวันออกจรดถนนอุปราชและทุ่งศรีเมือง ทิศตะวันตกจรดบ้านประชาชนและป่าช้าโรมันคาทอลิก ตัวอาคารเรียนหลักเป็นอาคารเรียนไม้ 2 ชั้น ขนาด 20 ห้องเรียน ตั้งอยู่ตรงกลางของพื้นที่ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีสนามและเสาธงขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนพูนดินมีขาเสาธงสี่ขาตั้งอยู่หน้าอาคารเรียน เมื่อสร้างเสร็จโรงเรียนแห่งใหม่แล้วเสร็จ พระสารศาสตร์ประพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น มาเป็นประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2478 ในนามโรงเรียน "เบ็ญจะมะมหาราช" และได้เปิดสอนอยู่ในที่ตั้งแห่งนี้จนถึง พ.ศ. 2516 โรงเรียนจึงได้ย้ายที่ตั้งอีกครั้งมาอยู่ในที่ตั้งปัจจุบัน ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว โรงเรียนได้เปิดสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษา แผนกวิทยาศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2489 และในปี พ.ศ. 2503 จึงเริ่มใช้หลักสูตรมัธยมศึกษา ตามแผนการศึกษาชาติ พุทธศักราช 2503
อาคารเรียนโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ที่ถูกขึ้นสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2477 ข้างต้นนั้น เป็นไม้สักทั้งหลัง ประวัติศาสตร์ของอาคารเรียนหลังนี้ได้ควบคู่มากับประวัติศาสตร์ของเมืองอุบลราชธานี ในช่วงเกือบหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมาพอๆ กับอายุของตัวอาคาร เช่น เรื่อง ขบวนการเสรีไทยในอีสาน เรื่อง บุคคล ตลอดจนการพัฒนาการศึกษาและอื่นๆ เป็นต้น ทั้งนี้ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินอาคารหลังเดิม (อาคารไม้ 2 ชั้น หลังศาลากลางจังหวัดปัจจุบัน) ของโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช เป็นโบราณสถานเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2545 โดยปัจจุบันได้มีการบูรณะอาคารดังกล่าวเพื่อสามารถใช้งานได้ในวาระต่างๆ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การใช้อาคารเก่าโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อจังหวัดอุบลราชธานีและประเทศชาติ จึงเห็นควรพิจารณาจัดทำโครงการสืบสานวัฒนธรรมศิลปเมืองนักปราชญ์ราชธานี ณ อาคารดังกล่าว โดยอาจจะดำเนินการในลักษณะใช้เป็นสถานที่สำหรับรวบรวมเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมศิลปเมืองนักปราชญ์ราชธานีในรูปแบบสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ หอจดหมายเหตุแห่งอุบลราชธานีเมืองนักปราชญ์ อื่นๆ ตามที่ประชาคมของชาวจังหวัดอุบลราชธานีได้ร่วมมือร่วมใจนำเสนอ

วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาอาคารเก่าโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช เป็นศูนย์กลางในการสืบสานวัฒนธรรมศิลปเมืองนักปราชญ์ราชธานี
2. เพื่อพัฒนาอาคารดังกล่าวเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการศึกษาจังหวัดอุบลราชธานีและแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมศิลปจังหวัดอุบลราชธานีในรูปแบบที่ทันสมัย
3. เพื่อพัฒนาอาคารดังกล่าวเป็นแหล่งรวบรวมจดหมายเหตุแห่งอุบลราชธานีเมืองนักปราชญ์
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ทำให้จังหวัดอุบลราชธานีมีศูนย์กลางในการสืบสานศิลปวัฒนธรรมเมืองนักปราชญ์ราชธานี
2. ทำให้มีสถานที่สำหรับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการศึกษาจังหวัดอุบลราชธานีและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานีในรูปแบบที่ทันสมัย
3. ทำให้สถานที่สำหรับรวบรวมจดหมายเหตุแห่งอุบลราชธานีเมืองนักปราชญ์
4. ทำให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมศิลปเมืองนักปราชญ์ราชธานีอย่างยั่งยืน
หน่วยงานที่รับผิดชอบ
1. จังหวัดอุบลราชธานี
2. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
3. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
4. องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี
5. เทศบาลนครอุบลราชธานี
6. สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี
7. กรมศิลปากร
8. สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช และโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช
9. ส่วนราชการอื่นๆ
10. ภาคเอกชน ภาคประชาชน
หมายเหตุ
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นหน่วยงานกลางในการประสานดำเนินการ และเป็นฝ่ายเลขานุการดำเนินงาน
งบประมาณ1. งบดำเนินการ
ค่าจ้าง
- เจ้าหน้าที่ประสานงาน
- เจ้าหน้าที่อื่นๆ
- ระบบรักษาความปลอดภัย (จังหวัดอุบลราชธานี)
ค่าวัสดุเอกสาร
2. งบลงทุน
- ระบบสาธารณูปโภค ไฟ้ฟ้า ประปา โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต (เทศบาลนครอุบลราชธานี)
- ระบบการแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี และแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมศิลปะจังหวัดอุบลราชธานีในรูปแบบที่ทันสมัย (องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี)
- ครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์
หมายเหตุ แหล่งเงินงบประมาณสนับสนุน
- สำนักงบประมาณ
- จังหวัดอุบลราชธานี
- องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี
- เทศบาลนครอุบลราชธานี

วิธีการในเบื้องต้น
1. จัดระดมความคิดเห็นสร้างความเข้าใจในการจัดทำโครงการ
2. ปรับปรุงโครงการเพื่อนำเสนอต่อสำนักงบประมาณ