วันพุธที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2557

(ร่าง) โครงการโรงเรียนสาธิตวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (Ubon ratchathani Demonstration Science School :UDSS)


(ร่าง) โครงการโรงเรียนสาธิตวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

(Ubon ratchathani Demonstration Science School :UDSS)


หลักการและเหตุผล

โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐ เริ่มดำเนินโครงการในปีการศึกษา ๒๕๕๑ มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายกำลังการผลิตบุคลากรกำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งประเทศไทยกำลังขาดแคลนเพิ่มเติมจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่แห่งเดียวคือโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและมหาวิทยาลัยนำร่อง ๔ แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยในปีการศึกษา ๒๕๕๓ โครงการ วมว.ได้เปิดรับนักเรียนเพิ่มเติมที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยการกำกับของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  และในปีการศึกษา ๒๕๕๔ โครงการ วมว.ได้เปิดรับนักเรียนเพิ่มเติมที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยการกำกับของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) โดยการกำกับของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ดำเนินการผลิตบัณฑิตในสาขาวิทยาศาสตร์มาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี ทั้งในระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโทและปริญญาเอก) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตปริญญาโทในสาขาวิทยาศาสตร์ศึกษาเพื่อเป็นการส่งเสริมคุณภาพการสอนสำหรับครูอาจารย์ที่สอนวิทยาศาสตร์ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา  ดังนั้น การจัดสร้างโรงเรียนสาธิตวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (Ubon ratchathani Demonstration Science School :UDSS) ณ คณะวิทยาศาสตร์ จะเป็นการดำเนินงานที่สอดรับโครงการ วมว. ข้างต้น อีกทั้ง การเป็นการสอดรับกับประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์อาคารของสถาบันอุดมศึกษา  ในประเด็น การใช้ทรัพยากรร่วมกันสถาบันอุดมศึกษาสามารถนับชั่วโมงการใช้ห้องเรียนโดยสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันการศึกษาอื่น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพและมีการใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างคุ้มค่า 


วัตถุประสงค์

๑.      เพื่อเป็นการดำเนินการตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีโครงการ วมว.

๒.    เพื่อเป็นการพัฒนาการบริการวิชาการในด้านเสริมประสิทธิภาพการเรียนวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียนมัธยมศึกษา

๓.     เพื่อเป็นการดำเนินงานตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์อาคารของสถาบันอุดมศึกษา

๔.     เพื่อเป็นการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ศึกษาให้คุณภาพที่สูงขึ้น


วิธีการดำเนินการ

๑.      ใช้คณาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สอนในวิชาหลักด้านวิทยาศาสตร์ และคณาจารย์ของคณะอื่นๆ (เช่น คณะศิลปศาสตร์) สอนวิชาพื้นฐานด้านสังคมศาสตร์และภาษา ทั้งนี้ คณาจารย์ผู้สอนสามารถนำชั่วโมงสอนคิดเป็นภาระงานปกติ โดยได้รับค่าตอบแทนการสอนเป็นรายชั่วโมงๆ ละ ๓๐๐ บาท

๒.    ใช้พื้นที่อาคารวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นสถานที่หลักในการเรียนการสอน โดยใช้ห้องปฏิบัติการเคมี ห้องปฏิบัติการชีววิทยา ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ และห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์  นอกจากนั้น ใช้พื้นที่อาคารกิจกรรม (ตรงข้ามอาคารวิจัย)  สำหรับกิจกรรมทั่วไปในการสิ่งเสริมกิจกรรมนอกการเรียน

๓.     ใช้ห้องพักของมหาวิทยาลัย (หลังเก่า ๒ ชั้น) เป็นที่พักสำหรับนักเรียน

๔.     โดยเริ่มรับเฉพาะนักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ ๔ จำนวน ๒ ห้อง (ห้องละ ๒๔ คน)  (ทั้งนี้ วิธีการรับมีเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำ (๑) สำหรับนักเรียนเรียนดีทั่วไป  (๒) สำหรับนักเรียนเรียนดีแต่ยากจน และ (๓) สำหรับนักเรียนเรียนดีที่เป็นบุตรของบุคลากรมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


งบประมาณในการดำเนินการ (รายรับ)

๑.      เงินค่าเหมาจ่ายบำรุงการศึกษาต่อภาคการศึกษาละ ๔๐,๐๐๐ บาทต่อคน  (หมายเหตุ หากได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลค่าบำรุงการศึกษาอาจจะถูกปรับลดลงตามสัดส่วนที่เหมาะสม)

๒.    เงินบริจาคสนับสนุนจากผู้ปกครองนักเรียนตามจิตศรัทธาเพื่อดำเนินการเป็น “กองทุนโรงเรียนสาธิตวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

๓.     อื่นๆ 


งบประมาณในการดำเนินการ (รายจ่าย)

๑.      ค่าตอบแทนฝ่ายบริหารโครงการ

๒.    ค่าตอบแทนหมวดค่าตอบแทน (ค่าสอน)

๓.     ค่าวัสดุสำนักงานและอุปกรณ์ทางการศึกษา

๔.     ค่าตอบแทนการใช้พื้นที่อาคารและสาธารณูปโภค


ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

๑.      ทำให้เกิดผลที่สอดรับกับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีโครงการ วมว.

๒.    ทำให้เกิดการพัฒนาการบริการวิชาการในด้านเสริมประสิทธิภาพการเรียนวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียนมัธยมศึกษา

๓.     ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ในการใช้อาคารที่มีประสิทธิภาพ อันเป็นไปตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์อาคารของสถาบันอุดมศึกษา

๔.     ทำให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ศึกษาให้คุณภาพที่สูงขึ้นอย่างยั่งยืน


ระยะเวลาในการดำเนินงาน

-                   มีนาคม- สิงหาคม ๒๕๕๗ จัดทำโครงการเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารคณะ คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัย และคณะรัฐมนตรี  (ทั้งนี้ การหลักสูตรเนื้อหาการสอนเหมือนกันกับโรงเรียนอื่นๆ ในโครงการ วมว.)

-                   กันยายน-ธันวาคม ๒๕๕๗ จัดเตรียมความพร้อมด้านกายภาพ และด้านคุณภาพในการเรียนการสอน

-                   มกราคม-มีนาคม ๒๕๕๘ จัดเตรียมการประชาสัมพันธ์และการรับนักเรียน

-                   เมษายน-พฤษภาคม ๒๕๕๘ อบรมสร้างความเข้าใจในการบริหารจัดการด้านการเรียนการสอนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง

-                   ปลายเดือน พฤษภาคม ๒๕๕๘ เปิดภาคเรียนที่ ๑ โดยเริ่มรับเฉพาะมัธยมศึกษาปีที่ ๔ จำนวน ๒ ห้อง
มณูญพงศ์ ศรีวิรัตน์
ผู้ร่างโครงการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น