วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สภาการศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี

ทำไมถึงจะต้องมีสภาการศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี ?

จังหวัดอุบลราชธานีมีองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาหลายระดับตั้งแต่ประถมจนถึงระดับอุดมศึกษา
-สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา มีจำนวน ๕ เขต
-สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษาที่ ๒๙ (ดูแลโรงเรียนมัธยมศึกษาในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดอำนาจเจริญ)
-สำนักงานศึกษานอกโรงเรียน
-ระดับอาชีวะ (มีวิทยาลัยอาชีวะ วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยการอาชีพ)
-ระดับอุดมศึกษา (มีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยเอกชนอีก ๒ แห่ง รวมถึงวิทยาลัยพยาบาล และวิทยาลัยสาธารณสุข)

คำถามก็คือว่า สถาบันต่างๆ ข้างต้นได้เคยมีการประชุมร่วมกันในการกำหนดทิศทางการศึกษาของจังหวัดอุบลราชธานีหรือไม่ เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมโยงกันตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษากันหรือไม่

ดังนั้น หากมีการจัดตั้งสภาการศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี (หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตามแต่) เพื่อให้ทุกระดับการมาร่วมกันในการกำหนดนโยบายภาพรวมของจังหวัดด้านการศึกษาหรือระดมความคิดเห็นด้านต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษาของจังหวัดอุบลราชธานี ก็จะดีมิใช่น้อย  เพราะในปัจจุบันนั้น มีสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี สภาการเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี สภาสตรีจังหวัดอุบลราชธานี  แต่สำหรับด้านการศึกษา ... ไม่มีอะไรเลย
               
สิ่งที่ผ่านมา และน่าจะมีการพัฒนาต่อไปเกี่ยวกับด้านการศึกษาของอุบลราชธานี

เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๕๕ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี (นายสุรพล สายพันธ์) ได้มีแนวความคิดเกี่ยวกับด้านการศึกษา แต่ท่านไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี เพราะระดับการศึกษาในแต่ละระดับก็มีผู้บังคับบัญชาที่ค่อนข้างจะอิสระกัน ท่านผู้ว่าสุรพลอยากจะให้มีการจัดทำข้อมูลเรื่อง “อุบลศึกษา” อันเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดอุบลราชธานีในทุกมิติทุกด้านตั้งแต่ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการตั้งเป็นเมืองอุบลราชธานี ซึ่งผมก็โชคดีที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้มอบหมายให้เป็นคณะกรรมการ โดยสิ่งหนึ่งที่ผมได้นำเสนอต่อที่ประชุมในขณะนั้น คือ

อยากจะให้นำเรื่องอุบลศึกษาใช้ในการสอบเข้าศึกษาต่อในแต่ระดับ เช่น ระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ ๑ ก็ต้องสอบวิชาอุบลศึกษา ระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ ๔ ก็ต้องสอบวิชาอุบลราชธานี และการสอบเข้าสถาบันอาชีวะ หรือ สถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดอุบลราชธานี ทุกคนควรจะสอบวิชาอุบลศึกษา นอกจากนั้น การสอบเข้าทำงานในตำแหน่งต่างๆ ของอุบลราชธานี (ทั้งภาครัฐและเอกชน) ก็ควรจะต้องสอบวิชาอุบลศึกษา   และเช่นเดียวกันข้าราชการที่จะถูกโอนย้ายให้มาทำงานที่อุบลราชธานีก็ควรจะต้องสอบวิชาอุบลศึกษา

วิชาอุบลศึกษา อาจจะถูกสอนในรูปแบบภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน เป็นต้น เพื่อจะเป็นการรองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนใน พ.ศ.๒๕๕๘  นอกจากนั้น ข้อมูลเกี่ยวกับอุบลศึกษาอาจจะนำไปถ่ายทอดในรูปแบบสื่ออื่นที่สามารถเผยแพร่ผ่าน Social Media อันจะเป็นการส่งเสริมการรู้เกี่ยวกับอุบลศึกษาให้มากยิ่งขึ้น

สภาการการศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี ควรจะประกอบด้วยอะไร จะดำเนินการอย่างไร ?

อันนี้ ผมไม่สามารถจะเขียนออกมาได้ในตอนนี้ ขอให้ติดตามต่อไป นะครับ

มณูญพงศ์ ศรีวิรัตน์ 
ประธานสถานศึกษา ร.ร.จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร
ประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มหาราชา (ภูผาเจีย มุกดาหาร)
อดีตรองอธิการบดี ม.อุบลราชธานี (พ.ศ.๒๕๔๕-๒๕๕๕)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น