วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ศิลปวัฒนธรรมเมืองนักปราชญ์ราชธานี

ชื่อเรื่องวันนี้หลายท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมถึงเป็น "ศิลปวัฒนธรรมเมืองนักปราชญ์ราชธานี" ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ได้เป็นผู้เ่ชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม และไม่ใช่นักปราชญ์  แล้วก็ไม่ใช่คนเมืองราชธานี อย่างไรก็ดี ผู้เขียนคิดว่าจะเขียนเรื่องดังกล่าวเป็นโครงการเพื่ออาจจะเป็นประโยชน์ต่อเมืองอุบลราชธานีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปรับใช้เพื่อให้เป็นรูปธรรม โดยมีรายละเอียดตามข้างล่างต่อไปนี้ ครับ 

หลักการและเหตุผล
ตามที่ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการทำความดี ด้านการเรียนรู้เพื่อประกอบอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกอบอาชีพในพื้นที่ชายแดน ดังนี้ “...เมืองไทยเดี๋ยวนี้ประชาชนมากเหลือเกิน ๖๕ ล้าน แล้วก็รอบๆ ตามชายแดนก็ยังมีคนที่ยากจนมาก จึงคิดว่าต้องพยายามหาอาชีพให้เขาทำ ให้ทุกคนมีงานทำ โดยเสริมสร้างให้เขามีความรู้ความชำนาญการทำศิลปะหลายอย่างที่กำลังจะสูญหายไปจากประเทศไทย...(พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๐)   และนโยบายของรัฐบาลที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันอังคารที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๔ ข้อ . นโยบายศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม .. อนุรักษ์ ทำนุบำรุง และบูรณปฏิสังขรณ์แหล่งศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม โบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่เป็นเอกลักษณ์และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ รวมถึงอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะการแสดง   และ ข้อ ข้อ ๖. นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม ๖.๑ เร่งพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่อยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ โดยพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้ประชาชนได้ใช้ในชีวิตประจำวันให้ทัดเทียมกับพัฒนาการในระดับนานาชาติ จัดให้มีแหล่งความรู้สาธารณะเพิ่มขึ้นทั้งในรูปองค์กร เช่น พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ สิ่งพิมพ์ และผ่านทางเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนยกมาตรฐานการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับ
จะเห็นว่าศิลปะและวัฒนธรรม นั้น เป็นสิ่งสำคัญของประเทศชาติที่จะต้องร่วมกันอนุรักษ์ไว้ สำหรับจังหวัดอุบลราชธานีในด้านศิลปวัฒนธรรมนั้นจังหวัดอุบลราชธานีเป็นเมืองราชธานีที่มีประวัติอันยาวนานเกี่ยวข้องกับศิลปะมาตั้งแต่โบราณกาล ตามคำขวัญของจังหวัดที่ว่า "เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี มีปลาแซบหลาย หาดทรายแก่งหิน ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์" โดยที่ผาแต้มนั้นเป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมที่เป็นสมบัติอันล้ำค่าของประเทศไทย  นอกจากนั้น จังหวัดอุบลราชธานีได้กำหนดวิสัยทัศน์เพื่อพัฒนาจังหวัด คือ “ชุมชนเข้มแข็ง เมืองน่าอยู่ เป็นประตูการค้าและการท่องเที่ยว การเกษตรมีศักยภาพ” พร้อมทั้งกำหนดนโยบาย ๔ นคร ประกอบด้วย "นครแห่งธรรม นครแห่งเทียน นครแห่งการพัฒนา นครแห่งความฮักแพง" ซึ่งจะเห็นว่าวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ว่า “เมืองน่าอยู่” นั้น จะต้องประกอบด้วยด้านการพัฒนาศิลปวัฒนธรรม อันจะสอดคล้องกับนโยบาย ๔ นคร เช่นกัน  

เมื่อกล่าวถึงศิลปวัฒนธรรมนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเชื่อมโยงกับพื้นที่ต่างๆ ทั้งใกล้และไกลของจังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน โดยที่ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ) ได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า "หุ้นส่วนเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านโดยที่หุ้นส่วนเศรษฐกิจหากมีการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่างประเทศเพื่อนบ้านแล้ว จะเกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อพร้อมที่เป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งในปีดังกล่าวอยู่ในช่วงระยะของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑  โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ที่จะเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับการเป็นประชาคมอาเซียนที่ประกอบด้วยเสาหลัก คือ (๑)ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community–ASC) (๒) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC)  (๓) ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC)   

ดังนั้น การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมที่สามารถเชื่อมโยงกับการเป็นประชาคมอาเซียนในด้านสังคม-วัฒนธรรม ที่จังหวัดอุบลราชธานีมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจังหวัดอุบลราชธานีมีวิสัยทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ “เป็นประตูการค้า การท่องเที่ยว” และวิสัยทัศน์ของกลุ่มจังหวัดก็กำหนดให้เกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ “หุ้นส่วนเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในฐานะที่ได้เป็นส่วนหนึ่งร่วมกับกรมศิลปากร และกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุบลราชธานี เบ็ญจะมะมหาราชสมาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี หอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เทศบาลนครอุบลราชธานี ภูมิพลังเมืองอุบลราชธานีและองค์กรพหุภาคี ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ การดำเนินการดูแลรักษาโบราณสถานอาคารราชพัสดุ (โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชเดิม)   ซึ่งอาคารดังกล่าวได้ถูกประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๕  จึงขอเสนอจัดให้มีการดำเนินโครงการ  “ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเมืองนักปราชญ์ราชธานี เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา มหาราชินี โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช (หลังเดิม)  โดยการจัดทำโครงการดังกล่าวเป็นการน้อมนำพระราชดำรัสในสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา เป็นการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ของจังหวัดอุบลราชธานีและกลุ่มจังหวัด เป็นการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑  และยุทธศาสตร์การเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.๒๕๕๘

วัตถุประสงค์
๑.      เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ๘๐ พรรษา ในปี พ.ศ.๒๕๕๕
๒.      เพื่อเป็นการน้อมนำพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ในประเด็น “เสริมสร้างให้เขามีความรู้ความชำนาญการทำศิลปะหลายอย่างที่กำลังจะสูญหายไปจากประเทศไทย
๓.      เพื่อเป็นการศึกษาวิจัยศิลปวัฒนธรรมของเมืองนักปราชญ์ราชธานี
๔.      เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมให้กับนักเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษาในรูปแบบสื่อดิจิตอล
๕.      เพื่อเป็นแหล่งเชื่อมโยงส่งเสริมอาชีพด้านศิลปวัฒนธรรมนำสู่การพัฒนาสินค้า OTOP สำหรับประชาคมอาเซียน
๖.      เพื่อพัฒนาอาคารเก่าโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช เป็นศูนย์กลางในการสืบสานศิลปวัฒนธรรมเมืองนักปราชญ์ราชธานี
๗.      เพื่อพัฒนาอาคารดังกล่าวเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการศึกษาจังหวัดอุบลราชธานีและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานีในรูปแบบที่ทันสมัย


ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
๑.      ทำให้ประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีได้สำนักในพระมหากรุณาธิคุณและเฉลิมพระเกียรติในวโรกาส สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ๘๐ พรรษา ในปี พ.ศ.๒๕๕๕
๒.      ทำให้เกิดการเสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้ความชำนาญการทำศิลปะหลายอย่างที่กำลังจะสูญหายไปจากประเทศไทย”
๓.      ทำให้เกิดการศึกษาวิจัยศิลปวัฒนธรรมของเมืองนักปราชญ์ราชธานี
๔.      ทำให้มีแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมให้กับนักเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษาในรูปแบบสื่อดิจิตอล
๕.      ทำให้มีแหล่งเชื่อมโยงส่งเสริมอาชีพด้านศิลปวัฒนธรรมนำสู่การพัฒนาสินค้า OTOP สำหรับประชาคมอาเซียน
๖.      ทำให้เกิดการพัฒนาอาคารเก่าโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช เป็นศูนย์กลางในการสืบสานศิลปวัฒนธรรมเมืองนักปราชญ์ราชธานี
๗.      ทำให้สามารถพัฒนาอาคารดังกล่าวเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการศึกษาจังหวัดอุบลราชธานีและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานีในรูปแบบที่ทันสมัย

หน่วยงานที่รับผิดชอบ
๑.      จังหวัดอุบลราชธานี
๒.      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
๓.      มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
๔.      องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี
๕.      เทศบาลนครอุบลราชธานี
๖.      สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี
๗.      กรมศิลปากร
๘.      สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช และโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช
๙.      ส่วนราชการอื่นๆ
๑๐.  ภาคเอกชน ภาคประชาชน
หมายเหตุ
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นหน่วยงานกลางในการประสานดำเนินการ และเป็นฝ่ายเลขานุการดำเนินงาน


หมายเหตุ แหล่งเงินงบประมาณสนับสนุน
- สำนักงบประมาณ
- จังหวัดอุบลราชธานี
- องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี
- เทศบาลนครอุบลราชธานี

วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

(ร่าง) โครงการการประชุมเชิงปฏิบัติการ “อนาคต. . . อุบลราชธานี”


หลักการและเหตุผล
สืบเนื่องกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ) ได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า "หุ้นส่วนเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านและกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ ๑ : การผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตร  โดยมียุทธศาสตร์ประกอบด้วยการปรับโครงสร้างและสร้างหุ้นส่วนการผลิตกับประเทศเพื่อนบ้าน ยุทธศาสตร์ที่ ๒ : การท่องเที่ยวและบริการ   โดยมียุทธศาสตร์ประกอบด้วยการสร้างหุ้นส่วนการท่องเที่ยวและบริการกับประเทศเพื่อนบ้าน ยุทธศาสตร์ที่ ๓  : พัฒนาสินค้า  OTOP  และยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานีประกอบด้วยประเด็นดังนี้ (๑) การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน (๒) การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (๓) การส่งเสริมการค้า  การลงทุน  และท่องเที่ยว (๔) การพัฒนาการเกษตรและการแปรรูปสินค้าเกษตร (๕) การพัฒนาระบบบริหารงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ (๖) การเสริมสร้างและรักษาความมั่นคง
นอกจากยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดและจังหวัดอุบลราชธานีข้างต้นแล้ว ในประเด็นด้านศิลปะและวัฒนธรรม นั้น เป็นสิ่งสำคัญของประเทศชาติที่จะต้องร่วมกันอนุรักษ์ไว้ โดยด้านศิลปวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานีเป็นเมืองราชธานีที่มีประวัติอันยาวนานเกี่ยวข้องกับศิลปะมาตั้งแต่โบราณกาล ตามคำขวัญของจังหวัดที่ว่า "เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี มีปลาแซบหลาย หาดทรายแก่งหิน ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์" จังหวัดอุบลราชธานีได้กำหนดวิสัยทัศน์เพื่อพัฒนาจังหวัด คือ “ชุมชนเข้มแข็ง เมืองน่าอยู่ เป็นประตูการค้าและการท่องเที่ยว การเกษตรมีศักยภาพ” พร้อมทั้งกำหนดนโยบาย ๔ นคร ประกอบด้วย "นครแห่งธรรม นครแห่งเทียน นครแห่งการพัฒนา นครแห่งความฮักแพง" ซึ่งจะเห็นว่าวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ว่า “เมืองน่าอยู่” นั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนในจังหวัดอุบลราชธานีจะต้องให้ความสำคัญในการเตรียมการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นเมืองน่าอยู่ เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งการเป็นประชาคมอาเซียนประกอบด้วยเสาหลัก คือ (๑)ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community–ASC) (๒) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC)  (๓) ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC)  ทั้งนี้ ในปีดังกล่าวอยู่ในช่วงระยะของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑  (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙) โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม  จังหวัดอุบลราชธานีมีพื้นที่ที่มีความพร้อมในการเชื่อมต่อกับประเทศในภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นลาวและกัมพูชาอันสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น   นอกจากนั้น ในด้านการศึกษาเพื่อสอดรับการนโยบายนครแห่งการพัฒนานั้นสามารถที่จัดทำหลักสูตรวิชา “อุบลฯ ศึกษา” เพื่อใช้สำหรับการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา อีกทั้งเป็นการดำเนินการที่สอดรับกับการเป็นประชาคมอาเซียนสังคม-วัฒนธรรม
          ดังนั้น เพื่อหัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนภาคเอกชน และตัวแทนภาคประชาชนของจังหวัดอุบลราชธานี ได้แลกเปลี่ยนความรู้ข้อเสนอแนะในด้านพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ จึงเห็นควรให้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “อนาคต. . . อุบลราชธานี” ในวันพฤหัสบดีที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๘.๓๐-๑๒.๐๐ น.

วัตถุประสงค์
๑.      เพื่อให้หัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนภาคเอกชน และตัวแทนภาคประชาชนของจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับทราบทิศทางการพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานีในอนาคต
๒.      เพื่อเกิดให้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พร้อมเสนอข้อคิดเห็นประเด็นการพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานีในการรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนใน พ.ศ.๒๕๕๘
๓.      เพื่อนำข้อคิดและข้อเสนอแนะไปประกอบการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี

ระยะเวลาดำเนินการ
วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๘.๓๐-๑๒.๐๐ น.

สถานที่ดำเนินการ 
ห้องแกรนด์บอลรูม อาคารเทพรัตนสิริปภา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
๑.      ทำให้หัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนภาคเอกชน และตัวแทนภาคประชาชนของจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับทราบทิศทางการพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานีในอนาคต
๒.      ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้พร้อมเสนอข้อคิดเห็นประเด็นการพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานีในการรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนใน พ.ศ.๒๕๕๘
๓.      ทำให้สามารถนำข้อคิดและข้อเสนอแนะไปประกอบการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี


(ผู้ช่วยศาสตราจารย์มนูญ ศรีวิรัตน์)
รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและชุมสัมพันธ์
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ผู้เสนอโครงการ


(นายสุรพล สายพันธ์)
ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี
ผู้อนุมัติโครงการ

(ร่าง) การประชุมเชิงปฏิบัติการ “อนาคต...อุบลราชธานี”
วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕
ณ ห้องแกรนด์บอลรูม อาคารเทพรัตนสิริปภา (โรงแรม) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
๐๘.๐๐-๐๘.๓๐ น.         ลงทะเบียน
๐๘.๓๐-๐๙.๐๐ น.         พิธีเปิดโดย พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์
                             พร้อม บรรยายพิเศษ “ทิศทางการพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี”
                             ในฐานะนายกสมาคมชาวอุบลราชธานี
๐๙.๐๐-๐๙.๓๐ น.         ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี (นายสุรพล สายพันธ์)
                             บรรยายพิเศษ “มุมมองผู้ว่าฯ ต่ออนาคตอุบลฯ”
๐๙.๓๐-๑๐.๐๐ น.         การพัฒนาอุบลราชธานีในด้านสังคมและวัฒนธรรม
                             โดยอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี
๑๐.๐๐-๑๐.๓๐ น.         อุบลฯ กับ การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
                             โดยประธานที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี
๑๐.๓๐-๑๑.๐๐ น.         การจัดทำผังเมืองและเส้นทางการขนส่งเพื่อรองรับอนาคตของอุบลฯ
                             โดยผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
๑๑.๐๐-๑๒.๐๐ น.         แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอแนะการพัฒนาอุบลราชธานี

ผู้ดำเนินรายการ : รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและชุมชนสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

นักศึกษาใหม่ ควรจะทำอะไรที่ใหม่ๆ?


ช่วงนี้เป็นเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงของผู้ที่อยู่วัยเรียนที่จะต้องย้ายสถานที่เรียนหรือเปลี่ยนสถานะของระดับการเรียนการศึกษาที่สูงขึ้น (เพราะการศึกษามีความสัมพันธ์กับเรื่องของอายุ) สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ ๖ ก็จะต้องเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา โดยที่การศึกษาระดับนี้จะต้องเหมาะสมกับความสามารถ ความต้องการของผู้เรียน นักเรียนเหล่านี้ ก็จะกลายเป็น "นักศึกษาใหม่" แล้วนักศึกษาใหม่เหล่านี้ควรจะต้องทำอะไรใหม่ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานะของคำว่า "นักศึกษาใหม่" หรือไม่อย่างไร

แน่นอนครับ นักศึกษาใหม่ สิ่งที่จะต้องเจอกันสิ่งใหม่ๆ ในชีวิตอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัย มีมากมายเหลือเกิน เริ่มตั้งแต่การพบเพื่อนๆ ใหม่ เข้าพักในหอพักมหาวิทยาลัย ซึ่งจะต้องเรียนรู้ปรับตัวการใช้ชีวิตกับเพื่อนใหม่ที่เราอาจจะไม่รู้จักมาก่อน จะต้องเรียนรู้การช่วยเหลือตัวเองในการขึ้นทะเบียนนักศึกษาใหม่ ลงทะเบียนเรียนวิชาต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาขณะที่เรียนระดับมัธยมนั้นอาจจะไม่ต้องดำเนินการเพราะโปรแกรมวิชาต่างๆ ถูกจัดการตามที่โรงเรียนกำหนด ทั้งนี้ การเรียนในมหาวิทยาลัยจะต้องเรียนวิชาต่างๆ ของคณะวิชาต่างๆ วิชาพื้นฐาน เช่น วิชาคณิตศาสตร์ (คณะวิทยาศาสตร์) วิชาต่างประเทศ (คณะที่เกี่ยวกับด้านภาษาศาสตร์) วิชาการปกครอง (คณะที่เกี่ยวกับด้านรัฐศาสตร์) เป็นต้น นอกจากนั้น ก็จะต้องเรียนวิชาชีพของคณะที่นักศึกษาได้ตัดสินใจเลือกเข้ามาศึกษา เช่น วิชาวิศวกรรมพื้นฐาน (คณะวิศวกรรมศาสตร์) เป็นต้น

นอกจาก นักศึกษาใหม่จะต้องปรับตัวดังกล่าวข้างต้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะต้องเกิดขึ้นเสมอในมหาวิทยาลัย คือ การได้มีโอกาสเรียนกิจกรรมในมหาวิทยาลัย เช่น กิจกรรมต้อนรับน้องใหม่ กิจกรรมเสริมสร้างจิตอาสา เป็นต้น โดยกิจกรรมเหล่านี้จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษารุ่นพี่ๆ ซึ่งบางครั้งนักศึกษาใหม่จะต้องตั้งใจและให้ความร่วมมือเพราะเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์และเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนๆ นักศึกษาใหม่และพี่ๆ นักศึกษาเก่า โดยที่สิ่งที่ไหนที่อาจจะไม่ดีนักศึกษาใหม่ก็ต้องพิจารณาเก็บเกี่ยวเป็นประสบการณ์ของชีวิตเพื่อนำไปปรับปรุงและประยุกต์ใช้ต่อไปในอนาคต สำหรับสิ่งที่ดีๆ นักศึกษาใหม่ก็ควรจะต้องจดจำเพื่อเป็นความทรงจำที่ดีๆ และนำส่งต่อให้รุ่นน้องๆ ในปีต่อไป

การเรียนของนักศึกษาใหม่ สิ่งใหม่ๆ ที่นักศึกษาใหม่ควรจะให้ความใส่ใจเพื่อเตรียมตัวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ในปี พ.ศ.๒๕๕๘ คือ การที่ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน สิ่งใหม่ๆ ที่ว่า คือ "การใส่ใจสนใจด้านเทคโนโลยีและด้านภาษา"

ด้านเทคโนโลยี นักศึกษาใหม่คงจะต้องให้ความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การใช้Search Engines เพื่อการค้นหาข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องการเรียน การใช้Social Networks เพื่อการเรียนการสอน ซึ่งนักศึกษาใหม่สามารถจะใช้ประโยชน์จากการใช้ดังกล่าว และเช่นเดียวกันในประเด็นนี้นั้นอาจารย์ผู้สอนก็ควรจะต้องให้ความสำคัญประยุกต์ใช้การเรียนการสอนเช่นกัน โดยกรณีของการใช้ Social Networksเพื่อการเรียนการสอน ผู้เขียนได้เคยนำเสนอมาแล้วเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๓ (สำหรับเรื่องนี้ ผู้เขียนได้มีบทความทางวิชาการ การประยุกต์ใช้เครือข่ายสังคมคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน กรณีศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) ดังนั้น นักศึกษาใหม่ ก็ควรจะต้องเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่นกัน

ด้านภาษา ผู้เขียนขอเน้นว่าเป็นภาษาเพื่อการสื่อสาร โดยนักศึกษาใหม่จะต้องเริ่มตั้งแต่การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องทั้งการพูดและการเขียน เพราะภาษาไทยนักศึกษาจะต้องสื่อสารกับอาจารย์ผู้สอนทั้งในแง่การนำเสนอผลงาน การทำการบ้าน และการสอบวัดผลการเรียน นอกจากภาษาไทยแล้ว นักศึกษาใหม่จะต้องให้ความสำคัญของภาษาที่จะใช้เป็นสำหรับการสื่อสารในการที่เป็นประชาคมอาเซียน นั่นคือ "ภาษาอังกฤษ" โดยในหลักสูตรระดับปริญญาตรีนั้นทุกหลักสูตรสาขาวิชาจะต้องลงทะเบียนเรียนวิชาภาษาอังกฤษ (ของคณะด้านภาษาศาสตร์) อย่างน้อย ๓ ถึง ๔ วิชา (ประมาณ ๙ ถึง ๑๒ หน่วยกิต) อย่างไรก็ดี ผู้เขียนคิดว่า นอกจากการเรียนวิชาภาษาอังกฤษที่ถูกบังคับให้เรียนแล้ว นักศึกษาใหม่ควรจะต้องเรียนศึกษาเองเพิ่มเติมได้จากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระบบ e-Learning ซึ่งมีมากมายผ่าน website ต่างๆ

นอกจากนั้น ที่นักศึกษาใหม่จะต้องเพิ่มเติมในทั้งสองด้านข้างต้นตามที่ผู้เขียนได้กล่าวไปแล้วนั้น สิ่งหนึ่งที่นักศึกษาใหม่จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อให้ตัวเองกลายเป็นคนใหม่ กลายเป็นนักศึกษาใหม่ที่สมบูรณ์ คือ การเรียนรู้ส่งเสริมให้ตัวเองเป็นนักศึกษาที่มีจิตอาสา (ตามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำรัส เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๕)  

ครับ สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอให้กำลังใจกับนักศึกษาใหม่ทุกคนที่จะได้พบกับสิ่งใหม่ๆ เลือกเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตการเรียนในมหาวิทยาลัย เลือกทำในสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตร่วมกันกับเพื่อนๆ พี่ๆ ในคณะในมหาวิทยาลัย และประการสำคัญ คือ เลือกทำสิ่งดีๆ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์

"นักศึกษาใหม่ หากไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงชีิวิตให้ใหม่ๆ เขาก็ไม่ถูกเรียกว่านักศึกษาใหม่"

มนูญ ศรีวิรัตน์
รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและชุมชนสัมพันธ์
และรักษาราชการแทนรองอธิการบดีวิทยาเขตมุกดาหาร

พระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ

























 “ข้าพเจ้าชอบคติพจน์ของมหาวิทยาลัยหลิ่งหนาน การศึกษาเพื่อจิตอาสา การศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการอุดมศึกษา มีความหมายมากกว่าการฝึกอาชีพ หลักสูตรและกิจกรรมนอกหลักสูตรที่ดีจะสามารถเปลี่ยนแปลงนักศึกษาให้เป็นคนดีและเป็นผู้นำที่มีศิลปะในการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยทัศนคติจิตอาสา เขาจะเป็นผู้ให้แก่สังคมได้มากขึ้นในอนาคต ข้าพเจ้าเองใช้การศึกษาพัฒนาถิ่นทุรกันดารมากว่า ๓๐ ปี ข้าพเจ้าจึงเข้าใจดีว่า การจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพจะเป็นเครื่องมือทรงพลังที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ เลยจะต้องใช้ความพยายามอย่างสูง เราจะต้องร่วมมือกันหาแนวทางที่มีประสิทธิผลยิ่งขึ้นในการจัดการศึกษาแก่คนรุ่นใหม่ ไม่เพียงแต่เพื่อสนองความต้องการของแต่ละบุคคลเท่านั้น แต่เพื่อให้เป็นสมาชิกที่ดีมีความเอื้ออาทรต่อผู้อื่นในชุมชนท้องถิ่นและชุมชนโลก” พระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๕  ในการพิธีทรงรับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาอักษรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยหลิ่งหนาน ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน