ชื่อหัวข้อวันนี้หลายท่านคงจะสงสัยว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร แต่ที่แน่ๆ คือ น่าจะเกี่ยวข้องกับตลาดและการศึกษาอย่างแน่นอน สำหรับตลาดนั้น ทุกท่านคงจะทราบดีว่าเป็นสถานที่หลากหลายเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอุปโภค บริโภค ผู้เขียนเองก็มีประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 5 ซึ่งเป็นเพราะอาชีพของคุณพ่อคุณแม่ค้าขาย และคุณแม่ของผู้เขียนท่านเป็นผู้ที่ขยันเป็นอย่างมาก ความขยันดังกล่าวทำให้ผู้เขียนจะต้องตื่นแต่เช้าทุกวันประมาณตี 4 เพื่อตื่นขึ้นมาเตรียมของขายในตลาดสด โดยใช้เวลาพอประมาณเพราะจะต้องปั่นจักรยานจากบ้านแห่งหนึ่งไปที่ตลาดสดประมาณ 3 กิโลเมตร แล้วทำการเก็บของขายออกมาวางเพื่อให้ลูกค้าได้เห็นและเลือกสินค้าได้มากที่สุดและสะดุดตาไปด้วย ซึ่งจะได้เวลาดังกล่าวประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ต่อจากนั้นผู้เขียนก็จะต้องนั่งรอคุณแม่มาเปลี่ยนเพื่อจะได้กลับบ้านไปอาบน้ำไปโรงเรียน ทั้งนี้ หากเป็นวันจันทร์ถึงวันศุกร์คุณพ่อได้สั่งให้นั่งฟังรายการวิทยุ (สถานีวิทยุแห่งประเทศ รายการข่าวหกโมงเช้า ปรีชา ทรัพย์โสภา) เวลาประมาณหกโมงเช้าซึ่งคุณปรีชาจะเกริ่นนำเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตของวันนั้นๆ โดยที่คุณพ่อของผู้เขียนนอกจากสั่งให้ฟังแล้วยังสั่งให้จดพร้อมกันไปด้วย การที่คุณพ่อสั่งการดังกล่าวทำให้ผู้เขียนเข้าใจภายหลังว่าเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่คุณพ่อต้องการให้ผู้เขียนได้มีสมาธิในการฟังและจดเพื่อให้จำ (ทั้งที่คุณพ่อของผู้เขียนไม่เคยเรียนวิชากลยุทธ์ (Strategy) เลย)
กลับมาที่ตลาดอีกครั้งหนึ่ง ผู้เขียนทำอย่างข้างต้นเป็นเวลากว่า 4 ปี (ตั้งแต่ชั้น ป.5 ถึง ม.3) เพราะหลังจากนั้นจะต้องเข้าไปศึกษาต่อ ม.4 ยังโรงเรียนประจำจังหวัด สิ่งที่ได้จากตลาดแห่งนั้น คือ ความวุ่นวาย ความยุ่งเหยิง ความหลากหลาย และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้รู้ว่าทุกคนที่อยู่ในตลาดนั้น อยู่เพื่อความอยู่รอดทั้งผู้ชื้อและผู้ขาย ผู้ชื้อก็ต้องการชื้อของถูกๆ ผู้ขายก็ต้องการขายแพงๆ และในที่สุดก็จะต้องมีราคาที่ทั้งสองฝ่ายพอใจทั้งคู่
นั้นเป็นเรื่องของตลาด ที่นี้ Marketing 3.0 นั้น คืออะไร ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านหนังสือ การตลาด 3.0 : ยุคแห่งการมีส่วนร่วมและการตลาดความร่วมมือจากหนังสือ “Marketing 3.0” ของบรมครูอย่าง Philip Kotler ร่วมเขียนกับ Hermawan Kartayaja และ Iwan Setiawan (แต่เป็นการอ่านแบบผ่านๆ เพราะไม่ใช่หนังสือที่ได้ซื้อมาอ่านเอง) แต่สิ่งหนึ่งที่ได้รับรู้และทราบ (อาจจะไม่สมบูรณ์ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์) คือ การตลาดยุดใหม่ที่อาจจะเรียกว่ายุดที่ 3 นั้น มีการใช้สิ่งต่างๆ เข้ามาบูรณการกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ระบบอินเทอร์เน็ต Social Media เพื่อให้ผู้บริโภคไม่เพียงเป็นฝ่ายตั้งรับในการรับสื่อสารทางการตลาด แต่สามารถแสดงออกถึงความคิดเห็น (Two-Way Communication) ของตนเอง ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ต้องการเป็นผู้ขายที่ประสบความสำเร็จสูงสุดนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจ Marketing 3.0
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เขียนแล้วคิดว่าประยุกต์ใช้ Marketing 3.0 for Education หรือ การตลาดยุคที่ 3 สำหรับการศึกษานั้น น่าจะสามารถกระทำได้ เพียงแต่สถาบันศึกษาระดับต่างๆ จะเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ในด้านใดบ้าง เนื่องจากในสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันและอนาคตนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก การตลาดยุคที่ 3 สำหรับการศึกษา อันดับแรกสำหรับความคิดของผู้เขียนนั้น อาจารย์ผู้สอนควรจะต้องเข้าใจบริบทของการเปลี่ยนแปลงของการเรียนการสอนพฤติกรรมการเรียนของนักศึกษาว่าเขาต้องการอย่างไร นักศึกษาต้องการเรียนรู้แบบไหน นักศึกษาต้องการที่ให้อาจารย์สอนอย่างไร และที่สำคัญ การเรียนการสอนมีพื้นที่ที่จะให้นักเรียนนักศึกษาได้แสดงออกถึงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ทั้งการเรียนการสอน การมีส่วนร่วมกิจกรรมต่างๆ และอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในวิชาสาขาต่างๆ
นอกจากนั้น ผู้เขียนคิดว่าหากสถาบันเข้าใจ Marketing 3.0 เป็นอย่างดีสามารถที่จะประยุกต์ใช้ในการประชาสัมพันธ์สถาบัน (ตัวสินค้าที่จะให้ผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา จะได้ตัดสินใจว่าสถาบันนั้น สถาบันนี้ น่าจะเข้าศึกษาหรือไม่อย่างไร) Marketing 3.0 for Education จะเป็นสิ่งที่ทรงพลังในการพลิกโฉมวงการศึกษาเป็นอย่างมาก นักเรียน นักศึกษา สามารถที่เรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สถาบันการศึกษาสามารถที่ประสบความสำเร็จในการเป็นแห่งการเรียนรู้ที่มีคุณค่า ทำให้ประเทศไทยของเราสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างภูมิใจ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงความคิดเห็นที่อาจจะผิดหรือจะถูก ผู้เขียนก็ไม่ได้เป็นผู้รู้เกี่ยวกับ Marketing 3.0 อย่างมากมาย แต่คิดว่าน่าสนใจสำหรับสถานการณ์ปัจจุบันที่วงการศึกษาน่าจะลองให้ความสำคัญ
สุดท้ายท้ายสุด ผู้เขียนขอกราบอภัยหากสิ่งที่ได้นำเสนอความคิดเห็นข้างต้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผู้เขียนพร้อมรับและขอรับการชี้แนะโดยถือเสียว่าเราก็เริ่มเข้าสู่ Marketing 3.0 คือ การแสดงออกความคิดเห็น (Two-Way Communication)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น