วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เรื่องของ สหกรณ์

ท่านสมาชิก สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำกัด หลายๆ ท่านคงจะทราบความหมายของ สหกรณ์ เป็นอย่างดีว่าหมายถึงอะไร แต่สำหรับผมแล้วอยากจะขออนุญาตเพิ่มเติม

สห น่าจะหมายถึง หลายๆ ส่วน (ที่มากกว่า ๑) ที่ไม่เหมือนกัน เช่น โรงเรียนสห หมายถึง โรงเรียนที่มีนักเรียนชายและหญิงเรียนพร้อมกันในห้องเรียนนั้นๆ

กรณ์ น่าจะหมายถึง มือ (เนื่องจากในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ไม่มีความหมายของ "กรณ์" โดยตรง)

ดังนั้น สหกรณ์ น่าจะหมายถึง การที่มีหลายๆ ส่วน หลายๆ มือ ในสมาคมในหน่วยงานมาช่วยเหลือกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งการออม (ทรัพย์) สิ่งหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินงานของสหกรณ์นั้นกรรมการที่ได้รับเลือกจากท่านสมาชิกและเจ้าหน้าที่จะต้องเข้าใจและได้รับประสบการณ์จากศึกษาดูงานของสหกรณ์ที่ได้ดำเนินการมายาวนาน ด้วยเหตุนี้ แต่ในละปี ทั้งกรรมการและเจ้าหน้าที่ควรจะได้ไปศึกษาและนำสิ่งที่ดีๆ จากสหกรณ์อื่นๆ มาปรับปรุงการทำงานของสหกรณ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

และในปีนี้ก็เช่นกัน กรรมการและเจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปศึกษาดูงาน สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ในวันศุกร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔) ดังนั้น ผมในฐานะประธานสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำกัด ขออนุญาต สรุปบาง
ส่วนจากการศึกษาดูงานดังกล่าวข้างต้น ดังนี้

ณ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด

ได้ให้ความสำคัญ "การออม" ของสมาชิกเป็นหลัก เนื่องจากการส่งเสริมการออม (ทรัพย์) เป็นสิ่งสำคัญมากของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด เพื่อความมั่นคงอยู่ดีกินดีของสมาชิก ทั้งนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด สามารถนำเงินออมทรัพย์ของสมาชิกไปลงทุนในกิจการต่างๆ ที่มีผลตอบแทนคุ้มค่าและไม่มีความเสี่ยง (ที่เป็นไปตาม พรบ. สหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๒) นอกจากนั้น สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด ได้ย้ำเน้น คือ

"การทำมาหาเก็บ ดีกว่า การทำมาหากิน"
การทำมาหาเก็บ จะทำให้เกิดการออมที่ยั่งยืน
ส่วน การทำมาหากิน มันจะไม่เกิดการออมอย่างยั่งยืน (เพราะเรากินหมด)

อย่างไรก็ดี การกู้ก็เพื่อเป็นการสร้างเนื้อสร้างตัวเพื่ออนาคตที่มั่นคง แต่ที่เรารู้กันดีว่า การเป็นหนี้ไม่ใช่เป็นลาภอันประเสริฐ แต่มันเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์

อย่างไรก็ดี บางครั้ง การทำงานของสหกรณ์ก็เพื่อ สะดวกต่อผู้ฝาก ลำบากต่อผู้กู้ ความหมาย คือ อะไร ครับ

หมายถึง สหกรณ์จะต้องส่งเสริมให้สมาชิกออมให้มาก แน่นอนครับหากลำบาต่อผู้กู้ สมาชิกอาจจะไม่ชอบ แต่ความหมายดังกล่าว คือ การปล่อยกู้จะต้องให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด เพื่อประโยชน์ของสมาชิกส่วนร่วม

ณ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด

ได้ให้ความสำคัญของการบริการแก่สมาชิก (สมาชิก คือ สหกรณ์ทั้งหลายในประเทศไทย เป็น นิติบุคคล โดยสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำกัด ก็เป็นสมาชิกของชุมนุมเช่นกัน) โดยชุมนมสหกรณ์ฯ ได้ให้ข้อคิดดังนี้
"ยามมี ท่านมาฝาก
ยามยาก ท่านมาถอน
ยามเดือดร้อน ท่านมากู้"
ความหมาย คือ อะไร ผมขออนุญาตขยายเพิ่มเติมข้อความข้างต้น ดังนี้

"ยามมี ท่านมาฝาก" ความหมาย คือ ท่านมีรายได้เพิ่มเติม ท่านก็มาสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์ เพื่อสะสมเป็นหุ้นเพื่ออนาคต (เพราะโดยส่วนมาก หุ้นในสหกรณ์มักจะมีเงินปันผลปลายปีมากกว่าธนาคารพาณิชย์) หรือ สมาชิกอาจจะเพิ่มหุ้นในแต่ละเดือน เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน (ทั้งนี้ เงินหุ้นสะสมจะได้รับคืนเมื่อลาออกจากการเป็นสมาชิก)

"ยามยาก ท่านมาถอน" ความหมาย คือ เมื่อท่านเป็นสมาชิกสหกรณ์แล้วท่านสามารถฝากเงินออมทรัพย์ (ดอกเบี้ย ก็มักจะสูงกว่าธนาคารพาณิชย์เช่นกัน และไม่ต้องเสียภาษี เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด) ซึ่งสมาชิกสามารถถอนออกไปใช้จ่ายได้ทุกเวลาเพื่อใช้ในกิจธุระจำเป็นโดยได้รับดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่นำเงินมาฝาก

"ยามเดือดร้อน ท่านมากู้" แน่นอนครับ สมาขิกสหกรณ์ฯ หากเมื่อไรก็ตามที่มีความจำเป็นที่จะใช้เงินในยามที่เดือดร้อนเรื่องใดๆ ท่านสมาขิกสามารถกู้เงินจากสหกรณ์ในกรณีต่างๆ เช่น กู้ฉุกเฉิน (ระยะสั้น) กู้สามัญ (ระยะปานกลาง) กู้พิเศษ (ระยะยาว) เป็นต้น

ดังนั้น จากข้อมูลข้างต้นสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำกัด จะได้นำมาซึ่งการปรับปรุงการบริการแก่สมาชิกฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนอกจากนั้น ผมอยากจะเชิญชวนบุคลากรมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีท่านใดที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกสหกรณ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำกัด ลองพิจารณามาเป็นสมาชิกนะครับ โดยท่านสามารถขอข้อมูลการเป็นสมาชิกได้ที่สำนักงานสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำกัด (ชั้น ๒ อาคารสำนักงานอธิการบดี หลังเก่า)

"ออมวันนี้เพื่อสิ่งที่ดีในวันหน้า อยากก้าวหน้าจะต้องกล้าลงทุน"
"อยากจะเกื้อหนุน จะต้องมาทำบุญร่วมกัน (ที่สหกรณ์)"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น