วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

อุบลฯ นครแห่งการพัฒนา (ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)

ผู้เขียนไม่ใช่คนอุบลฯ โดยกำเนิดแต่ก็มาใช้ชีวิตมาทำงานที่อุบลฯ เป็นเวลานานกว่าเกือบ ๒๐ ปี มีความภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้มีโอกาสทำงานเพื่อจังหวัดอุบลราชธานีในด้านการศึกษา สำหรับจังหวัดอุบลราชธานีตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ โชคดีมากที่มีคนอุบลฯ โดยกำเนิดมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการ ซึ่งก็คือ ท่านสุรพล สายพันธ์ ดังนั้น จะเห็นว่าเกิดการตื่นตัวในการด้านต่างๆ อย่างมากมาย ซึ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้เข้าติดตาม คือ การที่ท่านผู้ว่าราชการได้ประกาศให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นเมือง ๔ นคร คือ นครแห่งธรรม นครแห่งเทียน นครแห่งความฮักแพง และ นครแห่งการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ที่ท่านผู้ว่า ฯ สุรพลได้เพิ่มเติมและน่าสนใจเป็นอย่างมาก คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการโดยนำเทคโนโลยีและการสื่อสารมาใช้ในการพัฒนาจังหวัดพร้อมการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายสามจี (๓ G)


ซึ่งนโยบายยุทธศาสตร์ดังกล่าวข้างต้นนั้น เป็นการดำเนินการตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ ๒) ของประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๕๖
ยุทธศาสตร์ที่ ๓: การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (๒) ขยายประเภทบริการเพิ่มพื้นที่ให้บริการและปรับปรุงประสิทธิภาพของโครงข่ายโทรคมนาคม
ยุทธศาสตร์ที่ ๔: การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อสนับสนุนการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารและการบริการของภาครัฐมุ่งเน้นให้หน่วยงานของรัฐใช้เทคโนโลยีสารสนเท (๓) สร้างความเข้มแข็งด้าน ICT แก่หน่วยงานของรัฐในภูมิภาคในระดับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ดังนั้น จะเห็นว่านโยบายของจังหวัดอุบลราชธานีประการหนึ่งที่ท่านผู้ว่าราชการให้ความสำคัญ คือ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพราะเป็นสิ่งที่ผู้เขียนคิดว่ามีความจำเป็นอย่างมาก อันเนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบันนั้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านครอบครัว การขยายตัวของการใช้อินเทอร์เน็ตในครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นระบบอินเทอร์เน็ตที่ผ่านระบบไร้สายที่ให้บริการโดยบริษัทต่างๆ ก็มีส่วนขยายการให้บริการจำนวนมากยิ่งขึ้น สำหรับผู้เขียนเองถึงแม้ว่าจะสำเร็จการศึกษาด้านที่เกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแต่ก็นานมาแล้วเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี ความรู้ที่เล่าเรียนมานั้นไม่ทันสมัยเอาเสียแล้ว เพราะเนื่องจากศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศนั้นมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ทุกวินาทีทุกนาทีทุกชั่วโมงมีการพัฒนาคิดต่อยอดเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกับศาสตร์วิชาอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ตัวอย่างเช่น ศาสตร์ด้านสถิติ ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนสูตรต่างๆ ก็ยังคงใช้งานมาเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี ๒๐ ปี หรือจะเป็นด้านวิศวฯ ที่สูตรในการคำนวณด้านโครงสร้างก็ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นต้น อย่างไรก็ดี ผู้เขียนก็ขอขอบพระคุณท่านผู้ว่าราชการฯ สุรพล สายพันธ์ ที่ได้กรุณาแต่งตั้งให้ผู้เขียนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาจังหวัด โดยเป็นที่ปรึกษาคณะทำงานพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของจังหวัดอุบลราชธานี


สำหรับจังหวัดอุบลราชธานีนั้น มีสถาบันที่ผลิตบัณฑิตด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารปีหนึ่งๆ นั้นประมาณหลายร้อยคน กล่าวคือ ม.อุบลฯ ผลิตบัณฑิตประมาณ ๑๐๐ คน ม.ราชภัฏ อุบลฯ ผลิตบัณฑิตประมาณ ๑๐๐ (ผู้เขียนประมาณการเอง) ม.ราชธานี และ ม. การจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น (โปลีฯ) อีกจำนวนหนึ่ง จะเห็นว่าปีหนึ่งๆ นั้น จังหวัดอุบลราชธานีผลิตบัณฑิตด้านนี้จำนวนมาก แล้วบัณฑิตเหล่านี้ไปไหนกัน ไปทำงานที่กรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ หากเราสามารถทำให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นเมื่อเทคโนโลยีสารสนเทศแล้วละก็จะทำให้ ลูกหลานของเมืองอุบลฯ ของเราไม่ต้องดิ้นรนไปหางานทำที่อื่น เขาเหล่านั้นสามารถที่เปิดบริษัทรับจ้างทำงานที่อุบลฯ ก็ได้ เนื่องจากทุกวันนี้การส่งผลงานหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถส่งผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งหาเป็นเช่นนั้นจริงผู้เขียนเชื่อว่าในอนาคตเราสามารถตั้งธงได้เลยว่า “เมืองอุบลฯ จะเป็นนครแห่งการพัฒนา ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร” ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าทุกภาคส่วนจะต้องมีส่วนร่วมในการทำงานเดินทางไปสู่เป้าหมายที่ว่าพร้อมกันให้ได้


ที่นี้ในส่วนของผู้เขียนที่ได้รับความกรุณาจากจังหวัดให้เป็นที่ปรึกษานั้น ก็ได้เสนอแนะในเบื้องต้นไว้เป็นดังนี้
๑. เห็นควรพิจารณากำหนดให้จังหวัดอุบลราชธานีกำหนดสัญลักษณ์การเป็นเมือง IT โดยอาจจะ UBITC
UBITC = Ubon ratchathani will be the Information Technology City
UBITC = You will be Information Technology and Communication คุณ (คนอุบล) จะเป็นผู้ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียน การทำงาน การปฏิบัติงาน และธุรกิจด้านต่างๆ
๒. เห็นควรให้ทุกส่วนราชการกำหนดหน้าแรกของ Website หน่วยงานมี Icon UBITC เพื่อเชื่อมต่อกับ Website จังหวัดอุบลราชธานี (www.ubonratchathani.go.th) โดยทั้งนี้ Website จังหวัดอุบลราชธานีควรจะมีข้อมูลที่ประกอบด้วย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน + ๓ (สหรัฐ ญี่ปุ่น จีน) ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยอาจจะขอความอนุเคราะห์สถานบันการศึกษาในจังหวัดช่วยแปล Website ภาษาไทย เป็นภาษาดังกล่าวข้างต้นแล้วนำเข้าข้อมูล๓. เห็นควรพิจารณาใช้ประโยชน์จากระบบ Social Network (Facebook, twitter หรืออื่นๆ ) ที่ไม่จำเป็นจะต้องมีค่าใช้จ่าย โดยหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ อาจจะมีบัญชี (Account) ของ Social Network เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับนักเรียน นักศึกษา ประชาชน โดยอาจจะเป็นดังนี้ UBITC-ผู้ว่าราชการอุบลฯ UBICT-ผู้บังคับการตำรวจอุบลฯ UBITC-ผู้อำนวยการเบ็ญจะมะฯ ซึ่งจะทำให้เกิดการติดตามกิจกรรมของหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ อันเป็นการประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจในกิจกรรมต่างๆ พร้อมเป็นช่องทางการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผ่านระบบเครือข่าย หากมีการใช้จำนวนมากขึ้น ทั้งจังหวัดก็จะกลายเป็น UBITC ในที่สุด๔. เห็นควรพิจารณาให้ทุกส่วนราชการที่มีระบบเครือข่ายให้เพิ่มจุดระบบเครือข่ายไร้สายเพื่อบริการนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่เข้ามาใช้บริการของส่วนราชการนั้น โดยให้กำหนดจุดที่บริการให้เด่นชัดมีป้าย UBITC เพื่อให้ประชาชนสามารถขอเข้าใช้บริการได้สะดวก เช่น ในเทศบาลนครอุบลราชธานีควรกำหนดจุดให้บริการระบบเครือข่ายไร้สายและมีจุดที่ให้บริการคอมพิวเตอร์ (ฟรี) แต่กำหนดให้ใช้เพียงครั้งละ ๑๕ นาที เพื่อใช้ในการค้นหาแหล่งท่องเที่ยว ข้อมูลที่น่าสนใจในเขตเทศบาลหรือจังหวัดอุบลราชธานี และที่สำคัญจะต้องมีการเชื่อมต่อระบบไร้สายต่างๆ ด้วยระบบ ๓G๕. เห็นควรพิจารณาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี เช่น ผาแต้ม สามพันโบก เป็นต้น ติดตั้งกล้องอิเล็กทรอนิกส์ระบบเครือข่ายเพื่อให้สามารถเชื่อมให้เห็นภาพแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าว โดยทำให้ประชาชนทั้งในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดอื่นๆ ได้เห็น๖. เห็นควรพิจารณารณรงค์การเป็นเมือง IT UBITC ผ่านสื่อต่างๆ และสร้างกลุ่มอาสาสมัครด้าน IT เพื่อรวบรวมเรื่องดีๆ ของเมืองอุบลโดยอาจจะร่วมกับ Guidubon.com หรืออื่นๆ

และเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างมากที่จังหวัดอุบลราชธานีของเราในก้าวแรกของการเป็นนครแห่งการพัฒนา (ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดให้มีการลงนาม MOU ระหว่างจังหวัดอุบลราชธานี และส่วนราชการ กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สำหรับการติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ADSL) พร้อมติดตั้งระบบเครือข่ายไร้สาย (WiFi, ๓G) ในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ห้องประชุม ศูนย์ OTOP CENTER ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงนามดังกล่าวจะเป็นก้าวแรกที่เราชาวจังหวัดอุบลราชธานีจะได้เข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ (ผู้เขียนขอเน้นนะครับ) อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอันก่อประโยชน์ในการทำงาน ในการศึกษาเล่าเรียน ในการทำธุรกรรมต่างๆ ก็ขอสนับสนุนนโยบายดังกล่าวของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ท่านสุรพล สายพันธ์ ที่ท่านได้นำสิ่งดีๆ มาสู่พวกเราชาวอุบลราชธานี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น