วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เรื่องของ สหกรณ์

ท่านสมาชิก สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำกัด หลายๆ ท่านคงจะทราบความหมายของ สหกรณ์ เป็นอย่างดีว่าหมายถึงอะไร แต่สำหรับผมแล้วอยากจะขออนุญาตเพิ่มเติม

สห น่าจะหมายถึง หลายๆ ส่วน (ที่มากกว่า ๑) ที่ไม่เหมือนกัน เช่น โรงเรียนสห หมายถึง โรงเรียนที่มีนักเรียนชายและหญิงเรียนพร้อมกันในห้องเรียนนั้นๆ

กรณ์ น่าจะหมายถึง มือ (เนื่องจากในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ไม่มีความหมายของ "กรณ์" โดยตรง)

ดังนั้น สหกรณ์ น่าจะหมายถึง การที่มีหลายๆ ส่วน หลายๆ มือ ในสมาคมในหน่วยงานมาช่วยเหลือกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งการออม (ทรัพย์) สิ่งหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินงานของสหกรณ์นั้นกรรมการที่ได้รับเลือกจากท่านสมาชิกและเจ้าหน้าที่จะต้องเข้าใจและได้รับประสบการณ์จากศึกษาดูงานของสหกรณ์ที่ได้ดำเนินการมายาวนาน ด้วยเหตุนี้ แต่ในละปี ทั้งกรรมการและเจ้าหน้าที่ควรจะได้ไปศึกษาและนำสิ่งที่ดีๆ จากสหกรณ์อื่นๆ มาปรับปรุงการทำงานของสหกรณ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

และในปีนี้ก็เช่นกัน กรรมการและเจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปศึกษาดูงาน สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ในวันศุกร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔) ดังนั้น ผมในฐานะประธานสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำกัด ขออนุญาต สรุปบาง
ส่วนจากการศึกษาดูงานดังกล่าวข้างต้น ดังนี้

ณ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด

ได้ให้ความสำคัญ "การออม" ของสมาชิกเป็นหลัก เนื่องจากการส่งเสริมการออม (ทรัพย์) เป็นสิ่งสำคัญมากของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด เพื่อความมั่นคงอยู่ดีกินดีของสมาชิก ทั้งนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด สามารถนำเงินออมทรัพย์ของสมาชิกไปลงทุนในกิจการต่างๆ ที่มีผลตอบแทนคุ้มค่าและไม่มีความเสี่ยง (ที่เป็นไปตาม พรบ. สหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๒) นอกจากนั้น สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด ได้ย้ำเน้น คือ

"การทำมาหาเก็บ ดีกว่า การทำมาหากิน"
การทำมาหาเก็บ จะทำให้เกิดการออมที่ยั่งยืน
ส่วน การทำมาหากิน มันจะไม่เกิดการออมอย่างยั่งยืน (เพราะเรากินหมด)

อย่างไรก็ดี การกู้ก็เพื่อเป็นการสร้างเนื้อสร้างตัวเพื่ออนาคตที่มั่นคง แต่ที่เรารู้กันดีว่า การเป็นหนี้ไม่ใช่เป็นลาภอันประเสริฐ แต่มันเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์

อย่างไรก็ดี บางครั้ง การทำงานของสหกรณ์ก็เพื่อ สะดวกต่อผู้ฝาก ลำบากต่อผู้กู้ ความหมาย คือ อะไร ครับ

หมายถึง สหกรณ์จะต้องส่งเสริมให้สมาชิกออมให้มาก แน่นอนครับหากลำบาต่อผู้กู้ สมาชิกอาจจะไม่ชอบ แต่ความหมายดังกล่าว คือ การปล่อยกู้จะต้องให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด เพื่อประโยชน์ของสมาชิกส่วนร่วม

ณ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด

ได้ให้ความสำคัญของการบริการแก่สมาชิก (สมาชิก คือ สหกรณ์ทั้งหลายในประเทศไทย เป็น นิติบุคคล โดยสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำกัด ก็เป็นสมาชิกของชุมนุมเช่นกัน) โดยชุมนมสหกรณ์ฯ ได้ให้ข้อคิดดังนี้
"ยามมี ท่านมาฝาก
ยามยาก ท่านมาถอน
ยามเดือดร้อน ท่านมากู้"
ความหมาย คือ อะไร ผมขออนุญาตขยายเพิ่มเติมข้อความข้างต้น ดังนี้

"ยามมี ท่านมาฝาก" ความหมาย คือ ท่านมีรายได้เพิ่มเติม ท่านก็มาสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์ เพื่อสะสมเป็นหุ้นเพื่ออนาคต (เพราะโดยส่วนมาก หุ้นในสหกรณ์มักจะมีเงินปันผลปลายปีมากกว่าธนาคารพาณิชย์) หรือ สมาชิกอาจจะเพิ่มหุ้นในแต่ละเดือน เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน (ทั้งนี้ เงินหุ้นสะสมจะได้รับคืนเมื่อลาออกจากการเป็นสมาชิก)

"ยามยาก ท่านมาถอน" ความหมาย คือ เมื่อท่านเป็นสมาชิกสหกรณ์แล้วท่านสามารถฝากเงินออมทรัพย์ (ดอกเบี้ย ก็มักจะสูงกว่าธนาคารพาณิชย์เช่นกัน และไม่ต้องเสียภาษี เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด) ซึ่งสมาชิกสามารถถอนออกไปใช้จ่ายได้ทุกเวลาเพื่อใช้ในกิจธุระจำเป็นโดยได้รับดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่นำเงินมาฝาก

"ยามเดือดร้อน ท่านมากู้" แน่นอนครับ สมาขิกสหกรณ์ฯ หากเมื่อไรก็ตามที่มีความจำเป็นที่จะใช้เงินในยามที่เดือดร้อนเรื่องใดๆ ท่านสมาขิกสามารถกู้เงินจากสหกรณ์ในกรณีต่างๆ เช่น กู้ฉุกเฉิน (ระยะสั้น) กู้สามัญ (ระยะปานกลาง) กู้พิเศษ (ระยะยาว) เป็นต้น

ดังนั้น จากข้อมูลข้างต้นสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำกัด จะได้นำมาซึ่งการปรับปรุงการบริการแก่สมาชิกฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนอกจากนั้น ผมอยากจะเชิญชวนบุคลากรมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีท่านใดที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกสหกรณ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำกัด ลองพิจารณามาเป็นสมาชิกนะครับ โดยท่านสามารถขอข้อมูลการเป็นสมาชิกได้ที่สำนักงานสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำกัด (ชั้น ๒ อาคารสำนักงานอธิการบดี หลังเก่า)

"ออมวันนี้เพื่อสิ่งที่ดีในวันหน้า อยากก้าวหน้าจะต้องกล้าลงทุน"
"อยากจะเกื้อหนุน จะต้องมาทำบุญร่วมกัน (ที่สหกรณ์)"

วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ศิษย์เก่า ม.อุบลฯ (สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ได้มีโอกาสมาร่วมงานการจัดการแข่งขันกอล์ฟการกุศล ชิงถ้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จัดโดยสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยการจัดงานครั้งนี้เป็นการจัดครั้งแรกของสมาคมฯ (เพราะเนื่องจากสมาคมฯ ได้ถูกก่อตั้งเมื่อปีที่ผ่านมาเท่านั้นเอง) จัด ณ สนามกอล์ฟ เขื่อนสิรินธร อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ได้ทราบว่าการจัดงานครั้งนี้เพื่อจัดหารายได้บางส่วนทูลฯ แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเสด็จพระราชกุศลฯ ตามพระราชอัธยาศัย และเงินบางส่วนเป็นทุนการศึกษาให้รุ่นน้องๆ ส่วนที่เหลือก็เป็นทุนสำหรับการดำเนินงานของสมาคมศิษย์เก่าฯ
เท่าที่ทราบนั้น สมาคมฯ เกิดขึ้นมาก็ด้วยใจของศิษย์เก่าที่ได้ช่วยกันคนละไม้ละมือในการ่วมกันทำงาน ที่ผ่านมาผู้เขียนอยากจะให้เหล่าอาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้มีส่วนร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าฯ ให้มีจำนวนมากยิ่งขึ้น เพราะอย่างน้อยอาจารย์ก็เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ศิษย์เหล่านี้ได้สำเร็จการศึกษาไปรับใช้สังคมรับใช้ประเทศชาติ หากว่าอาจารย์มีส่วนร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าฯ อย่างใกล้ชิดมากยิ่งๆ ขึ้นแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าเวลาที่เราปรับปรุงหลักสูตร ทำหลักสูตรใหม่ หรือการใดก็ตามแต่ อาจารย์ก็จะต้องสอบถามศิษย์เก่าว่าที่เราสอนไปนั้น ดีหรือไม่อย่างไร มีอะไรที่จะต้องปรับปรุง อาจารย์ดีหรือยัง อาจารย์ทำอะไรที่ไม่ดีบ้าง อาจารย์ควรจะนำอะไรมาใช้ในการเรียนการสอนให้เกิดประโยชน์ต่อรุ่นน้อง

ผู้เขียนเองได้มีโอกาสติดตามการทำงานของคณะทำงานศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีแล้วมีความรู้สึกว่า มีความสุขมากๆ เพราะทุกคนที่ทำงานนั้น ใช้จิตในการทำงาน จิตที่ว่านั้นคือ จิตที่บริสุทธิ์ที่อยากจะเห็นสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีความเจริญก้าวหน้าให้เหมือนกันมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทุกคนที่ทำงานมีจิตอีกอย่างหนึ่งที่น่าทึ่งมาก คือ ทุกคนจะไม่เรียกร้องอะไรในการทำงานแต่มีเป้าหมายเดียวกับ คือ ความสำเร็จของงาน โดยในกลุ่ม Facebook คณะทำงานฯ นั้น หลายๆ คนที่เป็นศิษย์เก่าอาจจะไม่ได้มาร่วมทำงาน แต่สิ่งหนึ่งที่เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ของคณะทำงานได้ช่วยกัน คือ ให้กำลังใจในการทำงาน เรื่องนี้สำคัญเป็นอย่างมาก เพราะ "กำลังใจ" เป็นสิ่งหนึ่งที่หาซื้อด้วยเงินไม่ได้ แต่จะต้องให้กันด้วยความจริงใจ อันนี้ผู้เขียนได้เห็นได้สัมผัสกับสิ่งที่คณะทำงานสมาคมศิษย์เก่าฯ ได้ช่วยกันทำ อย่างไรก็ดี ผู้เขียนอยากจะให้ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีตั้งแต่รุ่น ๑ จนถึงรุ่นปัจจุบัน ได้สื่อสารกันประสานกันให้มากยิ่งๆ ขึ้น เพราะเมื่อไรก็ตามที่เรารวมตัวกันได้แล้วจะเป็นพลังมหาศาลในการขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมของสมาคมศิษย์เก่าฯ
สำหรับการจัดกอล์ฟการกุศลฯ ดังกล่าว ผู้เขียนอยากจะสนับสนุนให้จัดเป็นประจำทุกๆ ปี เพื่อเป็นประเพณี เหมือนกันการจัดแข่งขันฟุตบอล FA cup ของประเทศอังกฤษที่เขาจัดมาแล้วเป็นร้อยๆ ปี ผู้เขียนคิดว่าเราก็สามารถทำได้เช่นกัน นั้นหมายความว่า ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีทุกคนจะต้องมีเป้าหมายเดียวกัน จัดงานเพื่อนำเงินทูลฯ ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ตามพระราชอัธยาศัย และนำเงินบางส่วนจัดตั้งกองทุนสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภายใต้โครงการ "พี่ช่วยน้อง พร้อมกันพัฒนาประเทศไทย" ถึงแม้ว่าเราจะพึ่งเริ่มต้นสมาคมฯ แต่หากว่าเรามีความตั้งใจร่วมกันของศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจำนวนกว่า ๗,๐๐๐ คน ผู้เขียนเชื่อว่าสมาคมศิษย์เก่าฯ จะเป็นหน่วยงานที่สามารถรวมจิตรวมใจของศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีทุกคนเป็นหนึ่งเดียว และที่สำคัญผู้เขียนขอย้ำอีกครั้งว่า อยากจะเห็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีทุกท่านได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนสมาคมศิษย์เก่าฯ ให้มีจำนวนมากยิ่งขึ้น ภายใต้โครงการ "อาจารย์ช่วยศิษย์เก่า ศิษย์เก่าช่วยศิษย์ปัจจุบัน"

ครับสุดท้ายนี้ ผู้เขียนก็เป็นส่วนหนึ่ง (เล็กๆ ) ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเท่านั้น หากมีสิ่งใดที่สามารถจะช่วยสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ ก็มีความยินดีอย่างยิ่ง และหวังว่าสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการทำงานลักษณะจิตอาสาจิตสาธารณะ ขอให้กำลังใจสู้ต่อไปนะครับ

วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

อุบลฯ นครแห่งการพัฒนา (ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)

ผู้เขียนไม่ใช่คนอุบลฯ โดยกำเนิดแต่ก็มาใช้ชีวิตมาทำงานที่อุบลฯ เป็นเวลานานกว่าเกือบ ๒๐ ปี มีความภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้มีโอกาสทำงานเพื่อจังหวัดอุบลราชธานีในด้านการศึกษา สำหรับจังหวัดอุบลราชธานีตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ โชคดีมากที่มีคนอุบลฯ โดยกำเนิดมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการ ซึ่งก็คือ ท่านสุรพล สายพันธ์ ดังนั้น จะเห็นว่าเกิดการตื่นตัวในการด้านต่างๆ อย่างมากมาย ซึ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้เข้าติดตาม คือ การที่ท่านผู้ว่าราชการได้ประกาศให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นเมือง ๔ นคร คือ นครแห่งธรรม นครแห่งเทียน นครแห่งความฮักแพง และ นครแห่งการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ที่ท่านผู้ว่า ฯ สุรพลได้เพิ่มเติมและน่าสนใจเป็นอย่างมาก คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการโดยนำเทคโนโลยีและการสื่อสารมาใช้ในการพัฒนาจังหวัดพร้อมการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายสามจี (๓ G)


ซึ่งนโยบายยุทธศาสตร์ดังกล่าวข้างต้นนั้น เป็นการดำเนินการตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ ๒) ของประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๕๖
ยุทธศาสตร์ที่ ๓: การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (๒) ขยายประเภทบริการเพิ่มพื้นที่ให้บริการและปรับปรุงประสิทธิภาพของโครงข่ายโทรคมนาคม
ยุทธศาสตร์ที่ ๔: การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อสนับสนุนการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารและการบริการของภาครัฐมุ่งเน้นให้หน่วยงานของรัฐใช้เทคโนโลยีสารสนเท (๓) สร้างความเข้มแข็งด้าน ICT แก่หน่วยงานของรัฐในภูมิภาคในระดับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ดังนั้น จะเห็นว่านโยบายของจังหวัดอุบลราชธานีประการหนึ่งที่ท่านผู้ว่าราชการให้ความสำคัญ คือ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพราะเป็นสิ่งที่ผู้เขียนคิดว่ามีความจำเป็นอย่างมาก อันเนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบันนั้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านครอบครัว การขยายตัวของการใช้อินเทอร์เน็ตในครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นระบบอินเทอร์เน็ตที่ผ่านระบบไร้สายที่ให้บริการโดยบริษัทต่างๆ ก็มีส่วนขยายการให้บริการจำนวนมากยิ่งขึ้น สำหรับผู้เขียนเองถึงแม้ว่าจะสำเร็จการศึกษาด้านที่เกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแต่ก็นานมาแล้วเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี ความรู้ที่เล่าเรียนมานั้นไม่ทันสมัยเอาเสียแล้ว เพราะเนื่องจากศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศนั้นมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ทุกวินาทีทุกนาทีทุกชั่วโมงมีการพัฒนาคิดต่อยอดเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกับศาสตร์วิชาอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ตัวอย่างเช่น ศาสตร์ด้านสถิติ ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนสูตรต่างๆ ก็ยังคงใช้งานมาเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี ๒๐ ปี หรือจะเป็นด้านวิศวฯ ที่สูตรในการคำนวณด้านโครงสร้างก็ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นต้น อย่างไรก็ดี ผู้เขียนก็ขอขอบพระคุณท่านผู้ว่าราชการฯ สุรพล สายพันธ์ ที่ได้กรุณาแต่งตั้งให้ผู้เขียนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาจังหวัด โดยเป็นที่ปรึกษาคณะทำงานพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของจังหวัดอุบลราชธานี


สำหรับจังหวัดอุบลราชธานีนั้น มีสถาบันที่ผลิตบัณฑิตด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารปีหนึ่งๆ นั้นประมาณหลายร้อยคน กล่าวคือ ม.อุบลฯ ผลิตบัณฑิตประมาณ ๑๐๐ คน ม.ราชภัฏ อุบลฯ ผลิตบัณฑิตประมาณ ๑๐๐ (ผู้เขียนประมาณการเอง) ม.ราชธานี และ ม. การจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น (โปลีฯ) อีกจำนวนหนึ่ง จะเห็นว่าปีหนึ่งๆ นั้น จังหวัดอุบลราชธานีผลิตบัณฑิตด้านนี้จำนวนมาก แล้วบัณฑิตเหล่านี้ไปไหนกัน ไปทำงานที่กรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ หากเราสามารถทำให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นเมื่อเทคโนโลยีสารสนเทศแล้วละก็จะทำให้ ลูกหลานของเมืองอุบลฯ ของเราไม่ต้องดิ้นรนไปหางานทำที่อื่น เขาเหล่านั้นสามารถที่เปิดบริษัทรับจ้างทำงานที่อุบลฯ ก็ได้ เนื่องจากทุกวันนี้การส่งผลงานหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถส่งผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งหาเป็นเช่นนั้นจริงผู้เขียนเชื่อว่าในอนาคตเราสามารถตั้งธงได้เลยว่า “เมืองอุบลฯ จะเป็นนครแห่งการพัฒนา ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร” ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าทุกภาคส่วนจะต้องมีส่วนร่วมในการทำงานเดินทางไปสู่เป้าหมายที่ว่าพร้อมกันให้ได้


ที่นี้ในส่วนของผู้เขียนที่ได้รับความกรุณาจากจังหวัดให้เป็นที่ปรึกษานั้น ก็ได้เสนอแนะในเบื้องต้นไว้เป็นดังนี้
๑. เห็นควรพิจารณากำหนดให้จังหวัดอุบลราชธานีกำหนดสัญลักษณ์การเป็นเมือง IT โดยอาจจะ UBITC
UBITC = Ubon ratchathani will be the Information Technology City
UBITC = You will be Information Technology and Communication คุณ (คนอุบล) จะเป็นผู้ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียน การทำงาน การปฏิบัติงาน และธุรกิจด้านต่างๆ
๒. เห็นควรให้ทุกส่วนราชการกำหนดหน้าแรกของ Website หน่วยงานมี Icon UBITC เพื่อเชื่อมต่อกับ Website จังหวัดอุบลราชธานี (www.ubonratchathani.go.th) โดยทั้งนี้ Website จังหวัดอุบลราชธานีควรจะมีข้อมูลที่ประกอบด้วย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน + ๓ (สหรัฐ ญี่ปุ่น จีน) ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยอาจจะขอความอนุเคราะห์สถานบันการศึกษาในจังหวัดช่วยแปล Website ภาษาไทย เป็นภาษาดังกล่าวข้างต้นแล้วนำเข้าข้อมูล๓. เห็นควรพิจารณาใช้ประโยชน์จากระบบ Social Network (Facebook, twitter หรืออื่นๆ ) ที่ไม่จำเป็นจะต้องมีค่าใช้จ่าย โดยหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ อาจจะมีบัญชี (Account) ของ Social Network เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับนักเรียน นักศึกษา ประชาชน โดยอาจจะเป็นดังนี้ UBITC-ผู้ว่าราชการอุบลฯ UBICT-ผู้บังคับการตำรวจอุบลฯ UBITC-ผู้อำนวยการเบ็ญจะมะฯ ซึ่งจะทำให้เกิดการติดตามกิจกรรมของหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ อันเป็นการประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจในกิจกรรมต่างๆ พร้อมเป็นช่องทางการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผ่านระบบเครือข่าย หากมีการใช้จำนวนมากขึ้น ทั้งจังหวัดก็จะกลายเป็น UBITC ในที่สุด๔. เห็นควรพิจารณาให้ทุกส่วนราชการที่มีระบบเครือข่ายให้เพิ่มจุดระบบเครือข่ายไร้สายเพื่อบริการนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่เข้ามาใช้บริการของส่วนราชการนั้น โดยให้กำหนดจุดที่บริการให้เด่นชัดมีป้าย UBITC เพื่อให้ประชาชนสามารถขอเข้าใช้บริการได้สะดวก เช่น ในเทศบาลนครอุบลราชธานีควรกำหนดจุดให้บริการระบบเครือข่ายไร้สายและมีจุดที่ให้บริการคอมพิวเตอร์ (ฟรี) แต่กำหนดให้ใช้เพียงครั้งละ ๑๕ นาที เพื่อใช้ในการค้นหาแหล่งท่องเที่ยว ข้อมูลที่น่าสนใจในเขตเทศบาลหรือจังหวัดอุบลราชธานี และที่สำคัญจะต้องมีการเชื่อมต่อระบบไร้สายต่างๆ ด้วยระบบ ๓G๕. เห็นควรพิจารณาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี เช่น ผาแต้ม สามพันโบก เป็นต้น ติดตั้งกล้องอิเล็กทรอนิกส์ระบบเครือข่ายเพื่อให้สามารถเชื่อมให้เห็นภาพแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าว โดยทำให้ประชาชนทั้งในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดอื่นๆ ได้เห็น๖. เห็นควรพิจารณารณรงค์การเป็นเมือง IT UBITC ผ่านสื่อต่างๆ และสร้างกลุ่มอาสาสมัครด้าน IT เพื่อรวบรวมเรื่องดีๆ ของเมืองอุบลโดยอาจจะร่วมกับ Guidubon.com หรืออื่นๆ

และเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างมากที่จังหวัดอุบลราชธานีของเราในก้าวแรกของการเป็นนครแห่งการพัฒนา (ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดให้มีการลงนาม MOU ระหว่างจังหวัดอุบลราชธานี และส่วนราชการ กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สำหรับการติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ADSL) พร้อมติดตั้งระบบเครือข่ายไร้สาย (WiFi, ๓G) ในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ห้องประชุม ศูนย์ OTOP CENTER ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงนามดังกล่าวจะเป็นก้าวแรกที่เราชาวจังหวัดอุบลราชธานีจะได้เข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ (ผู้เขียนขอเน้นนะครับ) อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอันก่อประโยชน์ในการทำงาน ในการศึกษาเล่าเรียน ในการทำธุรกรรมต่างๆ ก็ขอสนับสนุนนโยบายดังกล่าวของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ท่านสุรพล สายพันธ์ ที่ท่านได้นำสิ่งดีๆ มาสู่พวกเราชาวอุบลราชธานี