วันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2557

๒๕ ปี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในมุมมองของข้าพเจ้า

   ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจะมีอายุครบรอบ ๒๕ ปีของการสถาปนาหรือการก่อตั้งตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ.๒๕๓๓ โดยเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๓๖ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร รุ่นที่ ๑ และพิธีเปิดมหาวิทยาลัย พวกเราชาวมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีควรจะต้องน้อมนำพระราโชวาทในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ว่า “การสร้างอนาคตแจ่มใสและมั่นคงของบัณฑิตกับการสร้างมหาวิทยาลัยก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน คือ จะต้องมีการวางแผนและตระเตรียมที่ถูกต้องรอบคอบ ต้องมีการสำรวจและปรับปรุงตนเองอยู่ตลอดเวลา ให้มีความรู้ ความสามารถ ความคิดความอ่านที่ก้าวหน้าทั่วถึง ทันสมัย ทั้งต้องสังวรระวังที่ใช้วิชาและความคิดเห็นอย่างละเอียดสุขุมให้ได้ประโยชน์สูงสุด” Youtube : ;https://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=v8XZ449uShQ
 
    โดยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีครบรอบการสถาปนา ๒๐ ปี ได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนเพื่อยกระดับการเรียนล่วงหน้าด้วยระบบ UCC  โดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่วารสาร e-LEADER Vol.21 No.253 March 2010 หน้า 74-76 หรือดูได้ที่ http://www.g-able.com/portal/page/portal/g-able/thai/our_success/success_V22_01/Vol_22_01.pdf







        กล่าวสำหรับปี พ.ศ.๒๕๕๘ นับว่าเป็นปีที่พิเศษเนื่องในวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระเจริญพรรษา ๕ รอบ ดังนั้น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อาจจะพิจารณาสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี โดยอาจจะตั้งชื่ออาคารว่า “ เทพสถิต” หมายถึง “องค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สถิตในดวงใจของประชาราษฎร์”  หรือ อาจจะจัดสร้างสวนเฉลิมพระเกียรติ “สวนเบญจสิริน”   (ข้อมูลประกอบเพิ่มเติมที่อาจจะเกี่ยวข้อง http://ubumukajmanoon.blogspot.com/2013/10/blog-post.html)

     นอกจากนั้น เนื่องจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้กำหนดเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยคือ "ภูมิปัญญาแห่งภูมิภาคลุ่มน้าโขง"  โดยเอกลักษณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากในโอกาสที่มหาวิทายลัยอุบลราชธานีจะครบรอบ ๒๕ ปี  คำถามคือว่า “ภูมิปัญญาแห่งภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” จะแปลงออกมาอย่างไรให้ได้รูปธรรม แน่นอนครับ สำหรับความคิดของผู้เขียนแล้วนั้น มีหลายอย่างที่จำเป็นอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นผู้นำด้านภูมิปัญญาให้กับลุ่มน้ำโขง ยกตัวอย่างเช่น 
   - ปัญหาเรื่องน้ำของจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับลุ่มน้ำโขง จะทำอย่างไรที่จะเกิดองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับเรื่องน้ำ ตั้งแต่เรื่องปัญหาน้ำไม่เพียงพอ เรื่องปัญหาน้ำเกิดพอ (น้ำท่วม) http://ubonrajchathani.thaiflood.com/ 
     - ปัญหาเรื่องผลผลิตทางการเกษตร ทำอย่างไรที่เกษตรจะได้รับการช่วยเหลือในด้านวิชาการองค์ความรู้อันจะนำไปสู่การกินดีอยู่ดี 

     ดังนั้น หากเราได้น้อมนำพระราโชวาทที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานความตอนหนึ่งที่ว่า "จะต้องมีการวางแผนและตระเตรียมที่ถูกต้องรอบคอบ" แล้วเราจะวางแผนและตระเตรียมการสถาปนาการครบรอบ ๒๕ ปี ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในประเด็นอะไรบ้างเรื่องอะไรบ้าง เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบัน คณาจารย์ บุคลากร ผู้บริหารทุกระดับ จะต้องมาช่วยกันคิดช่วยกันวางแผนว่า ในปี พ.ศ.๒๕๕๘ "๒๕ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี" จะต้องดำเนินการอะไรบ้าง ใครหน่วยงานใดในมหาวิทยาลัยจะรับผิดชอบดำเนินการ  หากยังคิดไม่ออกผู้เขียนขอเสนอชื่อโครงการ ดังนี้
   
  "โครงการสถาปนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ครบรอบ ๒๕ ปี สร้างสรรค์สิ่งดีเพื่อสังคมไทย"
 โครงการย่อย
 ๑. จัดปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระเจริญพรรษา ๖๐ พรรษา ปลูกต้นยางนา ๖,๐๐๐ ต้น
  ๒.  จัดสร้างเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อาคาร ๒๕ ปี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่านโดยมีการแสดงพระราชประวิตั อีกทั้งแสดงประวัติการก่อตั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประวัติอธิการบดีผู้ก่อตั้ง อธิการบดีในอดีต ประวัติผู้ทำคุณงามความดีให้มหาวิทยาลัย เช่น ข้าราชการดีเด่น นักศึกษาดีเด่น นักกีฬาดีเด่น ศิษย์เก่าดีเด่น เป็นต้น
  ๓. คิดยังไม่ออก บอกไม่ได้ ดังนั้น ขอให้ทุกท่านช่วยกันคิดนะครับ 


ยี่สิบห้าปี ม.อุบลฯ   เราทุกคนมาร่วมกัน
ช่วยกันมาสร้างสรรค์   พร้อมหน้ากันตระเตรียมงาน
โครงการช่วยกันคิด   มาผูกมิตรร่วมประสาน
ร่วมกันทุกหน่วยงาน   เพื่อก่อการสร้างงานใหญ่
หลายสิ่งต้องเริ่มต้น   ตระเตรียมคนประสานใจ
เวลาไม่คอยใคร      ต้องใส่ใจมาร่วมกัน
ม.อุบลฯเพื่อสังคม   ต้องเหมาะสมและครบครัน
อย่ามัวแต่เกี่ยงกัน    สร้างสัมพันธ์เพื่อบ้านเมือง
ม.อุบลฯ ยี่สิบห้าปี   สร้างสิ่งดีให้ต่อเนื่อง
ร่วมสร้างให้ลือเลื่อง   จะรุ่งเรืองอย่างแน่เอย




มณูญพงศ์ ศรีวิรัตน์
อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ
ภาควิชาคณิตศาสตร์ สถิติและคอมพิวเตอร์
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
๓๑ มีนาคม ๒๕๕๗ 
 

วันพุธที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2557

(ร่าง) โครงการโรงเรียนสาธิตวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (Ubon ratchathani Demonstration Science School :UDSS)


(ร่าง) โครงการโรงเรียนสาธิตวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

(Ubon ratchathani Demonstration Science School :UDSS)


หลักการและเหตุผล

โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐ เริ่มดำเนินโครงการในปีการศึกษา ๒๕๕๑ มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายกำลังการผลิตบุคลากรกำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งประเทศไทยกำลังขาดแคลนเพิ่มเติมจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่แห่งเดียวคือโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและมหาวิทยาลัยนำร่อง ๔ แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยในปีการศึกษา ๒๕๕๓ โครงการ วมว.ได้เปิดรับนักเรียนเพิ่มเติมที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยการกำกับของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  และในปีการศึกษา ๒๕๕๔ โครงการ วมว.ได้เปิดรับนักเรียนเพิ่มเติมที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยการกำกับของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) โดยการกำกับของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ดำเนินการผลิตบัณฑิตในสาขาวิทยาศาสตร์มาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี ทั้งในระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโทและปริญญาเอก) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตปริญญาโทในสาขาวิทยาศาสตร์ศึกษาเพื่อเป็นการส่งเสริมคุณภาพการสอนสำหรับครูอาจารย์ที่สอนวิทยาศาสตร์ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา  ดังนั้น การจัดสร้างโรงเรียนสาธิตวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (Ubon ratchathani Demonstration Science School :UDSS) ณ คณะวิทยาศาสตร์ จะเป็นการดำเนินงานที่สอดรับโครงการ วมว. ข้างต้น อีกทั้ง การเป็นการสอดรับกับประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์อาคารของสถาบันอุดมศึกษา  ในประเด็น การใช้ทรัพยากรร่วมกันสถาบันอุดมศึกษาสามารถนับชั่วโมงการใช้ห้องเรียนโดยสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันการศึกษาอื่น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพและมีการใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างคุ้มค่า 


วัตถุประสงค์

๑.      เพื่อเป็นการดำเนินการตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีโครงการ วมว.

๒.    เพื่อเป็นการพัฒนาการบริการวิชาการในด้านเสริมประสิทธิภาพการเรียนวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียนมัธยมศึกษา

๓.     เพื่อเป็นการดำเนินงานตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์อาคารของสถาบันอุดมศึกษา

๔.     เพื่อเป็นการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ศึกษาให้คุณภาพที่สูงขึ้น


วิธีการดำเนินการ

๑.      ใช้คณาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สอนในวิชาหลักด้านวิทยาศาสตร์ และคณาจารย์ของคณะอื่นๆ (เช่น คณะศิลปศาสตร์) สอนวิชาพื้นฐานด้านสังคมศาสตร์และภาษา ทั้งนี้ คณาจารย์ผู้สอนสามารถนำชั่วโมงสอนคิดเป็นภาระงานปกติ โดยได้รับค่าตอบแทนการสอนเป็นรายชั่วโมงๆ ละ ๓๐๐ บาท

๒.    ใช้พื้นที่อาคารวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นสถานที่หลักในการเรียนการสอน โดยใช้ห้องปฏิบัติการเคมี ห้องปฏิบัติการชีววิทยา ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ และห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์  นอกจากนั้น ใช้พื้นที่อาคารกิจกรรม (ตรงข้ามอาคารวิจัย)  สำหรับกิจกรรมทั่วไปในการสิ่งเสริมกิจกรรมนอกการเรียน

๓.     ใช้ห้องพักของมหาวิทยาลัย (หลังเก่า ๒ ชั้น) เป็นที่พักสำหรับนักเรียน

๔.     โดยเริ่มรับเฉพาะนักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ ๔ จำนวน ๒ ห้อง (ห้องละ ๒๔ คน)  (ทั้งนี้ วิธีการรับมีเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำ (๑) สำหรับนักเรียนเรียนดีทั่วไป  (๒) สำหรับนักเรียนเรียนดีแต่ยากจน และ (๓) สำหรับนักเรียนเรียนดีที่เป็นบุตรของบุคลากรมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


งบประมาณในการดำเนินการ (รายรับ)

๑.      เงินค่าเหมาจ่ายบำรุงการศึกษาต่อภาคการศึกษาละ ๔๐,๐๐๐ บาทต่อคน  (หมายเหตุ หากได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลค่าบำรุงการศึกษาอาจจะถูกปรับลดลงตามสัดส่วนที่เหมาะสม)

๒.    เงินบริจาคสนับสนุนจากผู้ปกครองนักเรียนตามจิตศรัทธาเพื่อดำเนินการเป็น “กองทุนโรงเรียนสาธิตวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

๓.     อื่นๆ 


งบประมาณในการดำเนินการ (รายจ่าย)

๑.      ค่าตอบแทนฝ่ายบริหารโครงการ

๒.    ค่าตอบแทนหมวดค่าตอบแทน (ค่าสอน)

๓.     ค่าวัสดุสำนักงานและอุปกรณ์ทางการศึกษา

๔.     ค่าตอบแทนการใช้พื้นที่อาคารและสาธารณูปโภค


ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

๑.      ทำให้เกิดผลที่สอดรับกับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีโครงการ วมว.

๒.    ทำให้เกิดการพัฒนาการบริการวิชาการในด้านเสริมประสิทธิภาพการเรียนวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียนมัธยมศึกษา

๓.     ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ในการใช้อาคารที่มีประสิทธิภาพ อันเป็นไปตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์อาคารของสถาบันอุดมศึกษา

๔.     ทำให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ศึกษาให้คุณภาพที่สูงขึ้นอย่างยั่งยืน


ระยะเวลาในการดำเนินงาน

-                   มีนาคม- สิงหาคม ๒๕๕๗ จัดทำโครงการเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารคณะ คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัย และคณะรัฐมนตรี  (ทั้งนี้ การหลักสูตรเนื้อหาการสอนเหมือนกันกับโรงเรียนอื่นๆ ในโครงการ วมว.)

-                   กันยายน-ธันวาคม ๒๕๕๗ จัดเตรียมความพร้อมด้านกายภาพ และด้านคุณภาพในการเรียนการสอน

-                   มกราคม-มีนาคม ๒๕๕๘ จัดเตรียมการประชาสัมพันธ์และการรับนักเรียน

-                   เมษายน-พฤษภาคม ๒๕๕๘ อบรมสร้างความเข้าใจในการบริหารจัดการด้านการเรียนการสอนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง

-                   ปลายเดือน พฤษภาคม ๒๕๕๘ เปิดภาคเรียนที่ ๑ โดยเริ่มรับเฉพาะมัธยมศึกษาปีที่ ๔ จำนวน ๒ ห้อง
มณูญพงศ์ ศรีวิรัตน์
ผู้ร่างโครงการ