วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คนอุบลฯ ? เพื่ออุบลฯ ? (ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่คนอุบลฯ แต่ก็อยากจะทำเพื่ออุบลฯ)

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่าได้มีโอกาสเข้าไปดูฟุตบอลของชาวจังหวัดอุบลราชธานีที่มีชื่อทีมว่า Ubon Tiger Fc ณ สนามเหย้า (คือ สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งก็คือของคนอุบลฯ) ทำให้มีความรู้สึกและเกิดคำถามว่า

“จังหวัดอุบลราชธานีก็เป็นจังหวัดที่ใหญ่เป็นอันดับสองในภาคอีสานรองจากนครราชสีมา มีผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ตั้ง 11 ท่าน มีมหาวิทยาลัยของรัฐ 2 แห่ง คือ ม.อุบลฯ และ ม.ราชภัฏอุบลฯ และมีมหาวิทยาลัยเอกชนอีก 2 แห่ง และอุบลราชธานีก็มีอะไรอีกต่างๆ มากมายที่เป็นที่รู้จักของคนไทย แล้วทำไมทีมฟุตบอลของชาวจังหวัดอุบลราชธานีถึงได้มีเป็นแบบนี้ ความหมายคือ ทั้งคนดูก็มีจำนวนน้อย นักฟุตบอลก็มีทั้งนักเตะต่างชาติ (ซึ่งไม่รู้ว่าชาติไหนบ้าง) ทั้งที่อุบลราชธานีมีโรงเรียนกีฬาประจำจังหวัด แล้วทำไมเรื่องกีฬาฟุตบอลของอุบลราชธานีถึงเป็นอย่างนี้”

ข้อสงสัยข้อคำถามของผู้เขียนดูอาจจะรุนแรงไปบ้างนะครับ จังหวัดอื่นๆ ตอนนี้มีนักการเมืองมีเศรษฐีของจังหวัดนั้นๆ เข้ามามีบทบาทในการพัฒนากีฬาฟุตบอลของจังหวัดของพวกเขาเหล่านั้น ผู้เขียนคงจะไม่ไปก้าวล่วงว่าทำไมนักการเมืองเหล่านั้นถึงมีอิทธิพลความสามารถทำให้กีฬาของจังหวัดของเขาสามารถพัฒนาได้เป็นอย่างดีจนเป็นที่อิจฉาของคนจังหวัดอื่นๆ ตัวอย่างที่บ้านเกิดของผู้เขียน คือ จังหวัดร้อยเอ็ด ประธานสโมสรฟุตบอลของจังหวัดร้อยเอ็ด คือ ท่านเศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์ (อดีต ส.ส. ร้อยเอ็ด) ท่านเป็นรักกีฬาฟุตบอลเป็นอย่างมากเป็นนักกีฬาฟุตบอลของโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย (ซึ่งเราเป็นรุ่นน้องๆ มักจะเรียกพี่เศกสิทธิ์ เขาว่า พี่หนูเอ) เป็นนักกีฬาฟุตบอลของจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นนักกีฬาฟุตบอลของทีมกสิกรไทยในอดีต พูดง่ายๆ คือ เป็นผู้ที่รักกีฬาฟุตบอลแล้วได้มีโอกาสมาทำทีมฟุตบอล ก็เลยทำให้คนร้อยเอ็ดได้มีโอกาสร่วมกันในการสร้างสรรค์ความรักที่ดีๆ เกี่ยวกับกีฬาฟุตบอล

ขอวกกลับมาที่จังหวัดอุบลราชธานี คนอุบลฯ ไปไหนกันหมด คนอุบลฯ นั้นมีศักยภาพมากมายมหาศาลที่จะสามารถร่วมกันพัฒนากีฬาฟุตบอลของจังหวัดให้ดีขึ้นได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่ท้าทายเป็นอย่างมาก หากเราลองคิดใหม่ทบทวนใหม่ว่าหากเราจะเป็นนครแห่งการพัฒนา (กีฬาฟุตบอล) ตามนโยบายของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว เราควรจะทำอย่างไร ผู้เขียนใคร่ขออนุญาตเสนอแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการพัฒนา ดังนี้

๑. อาจจะต้องเปลี่ยนนโยบายแนวความคิดที่จะใช้นักเตะต่างชาติ ควรจะลดจำนวนนักเตะต่างชาติแล้วหันมาหานักศึกษาที่เป็นลูกหลานคนอุบลฯ หรือกำลังศึกษาที่จังหวัดอุบลฯ เพื่อจะได้ให้เขาเหล่านั้นที่รักกีฬาฟุตบอลได้มีโอกาสแสดงศักยภาพของตนเองออกมา ซึ่งอาจจะใช้เวลา แต่ผู้เขียนคิดว่าไม่เป็นไร เพราะอุบลราชธานีเป็นนครแห่งการพัฒนา เราจะต้องมีการพัฒนา

๒. อาจจะต้องให้ทุกๆ ฝ่ายในจังหวัดอุบลราชธานีได้มีส่วนร่วมในการพัฒนากีฬาฟุตอบอลโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอาจจะพิจารณาเป็นประธานสโมสร โดยมีที่ปรึกษาเป็นคณะที่ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดอุบลราชธานีทุกท่าน สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุบลราชธานี ท่านอธิการบดีของมหาวิทยาลัยในจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนคณะกรรมการพัฒนาก็ควรจะพิจารณาให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วม กล่าวง่ายๆ คือ ทุกภาคส่วนควรจะต้องเข้ามาช่วยกัน ใครมีอะไรก็มาช่วยกัน เน้นการมีส่วนร่วมในได้มากที่สุด ซึ่งจะตรงกับนโยบายของจังหวัดอุบลราชธานีเรื่อง นครแห่งการฮักแพง

๓. อาจจะต้องพิจารณาจัดหาเงินทุนในการพัฒนาเป็นกองทุน ซึ่งผู้เขียนคิดว่าหากเราคนอุบลฯ ต่างช่วยกันคนละไม้คนละมือก็จะสามารถทำได้ ภายชื่อว่า “คนอุบลฯ คนละบาท” อันจะเหมือนกันเมื่อครั้งในอดีตที่คนอุบลฯ ได้ร่วมกันคนละบาทในการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำมูล

ครับ ผู้เขียนยังเชื่อว่าคนอุบลฯ อีกไม่น้อยที่ต้องการจะเห็นความสำเร็จของทีมฟุตบอลประจำจังหวัดอุบลราชธานี ขอย้ำนะครับว่า ทีมฟุตบอลของคนอุบลฯ เพื่อคนอุบลฯ เราคนอุบลฯ ไม่ต้องไปน้อยใจว่าทีมฟุตบอลจังหวัดโน้นจังหวัดนี้เขาถึงมีการพัฒนาเป็นอย่างดีและก้าวไปไกล หลายจังหวัดประสบความสำเร็จด้วยก็เพราะอะไรนั้นผู้เขียนเชื่อว่าเราทราบกันดีว่าเพราะอะไร อย่างไรก็ดี หากคนอุบลฯ เริ่มต้นด้วยการมาร่วมกันสร้างร่วมกันเชียร์ร่วมกันคิดร่วมกันให้กำลังใจซึ่งกันและกันในการสร้างทีมฟุตบอล เราพยายามอย่าสร้างทีมฟุตบอลโดยการเอาเรื่องเงินมาเป็นตัวตั้ง ใครมีอะไรก็เอามาช่วยกันเท่าที่เราทำได้ เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วผู้เขียนเชื่อว่า คนอุบลฯ จะต้องมีทีมฟุตบอลเพื่อคนอุบลฯ จริงๆ

สุดท้ายและท้ายสุดจริงๆ ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะไม่ใช่คนอุบลฯ แต่ก็มามีอาชีพและใช้ชีวิตที่อุบลฯ ก็อยากจะมีส่วนช่วยร่วมในการพัฒนาอุบลราชธานี ตามนโยบายของท่านผู้ว่าราชการที่ว่า นครแห่งการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านกีฬาฟุตบอล หากมีอะไรที่ผู้เขียนที่พอช่วยได้ก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง และมีความสุขเป็นอย่างมากที่จะได้มีโอกาสในการมีส่วนร่วมดังกล่าว

1 ความคิดเห็น:

  1. ต้องขออนุญาต เพิ่มเติมข้อมูลครับ

    1.มีอยู่ระยะเวลาหนึ่งที่ มีแนวทางจากสโมสรในการหันมาใช้นักกีฬาภายในประเทศ โดยเฉพาะนักกีฬาชาวอุบลฯ หรือ ที่อยู่ในจังหวัดอุบลฯ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่า ด้วยความเคยชินในสถานที่ ใกล้ความสะดวกสบาย(สนามแข่งและที่พัก อยู่ในตัวเมือง) และสโมสรขาดบุคคลากรที่จะควบคุมนักกีฬาตลอด24 ชั่วโมง อาทิตย์ละ 6 วัน เป็นเหตุให้ความประพฤติของนักกีฬาส่วนหนึ่งขาดสิ่งที่เรียกว่า"มืออาชีพ"

    เเต่ปัญหาดังกล่าว ณ ปีนี้เราสามารถแก้ไขได้ในระดับหนึ่งเเล้วด้วยการได้รับการสนับสนุนที่ดี จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อนุญาตให้นักกีฬาเก็บตัว ณ สนามเเข่งขันของมหาวิทยาลัยฯ ทำให้ง่ายต่อการดูเเลนักกีฬา

    และในระยะเวลาการเเข่งขันที่เหลืออยู่นี้ มีนักกีฬาที่เป็นลูกหลานของชาวอุบลฯ เข้ามาร่วมเพิ่มมากขึ้น และได้รับโอกาสให้ลงเล่นเเล้วในเกมส์การเเข่งขันที่ผ่านมา หวังว่านักกีฬาจะได้รับโอกาส เพื่อพัฒนาทักษะให้ดียิ่งขึ้นไป

    2 ส่วนตัวเสียใจ และเสียดายโอกาสของคนอุบลฯ

    ตอบลบ