วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คนอุบลฯ ? เพื่ออุบลฯ ? (ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่คนอุบลฯ แต่ก็อยากจะทำเพื่ออุบลฯ)

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่าได้มีโอกาสเข้าไปดูฟุตบอลของชาวจังหวัดอุบลราชธานีที่มีชื่อทีมว่า Ubon Tiger Fc ณ สนามเหย้า (คือ สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งก็คือของคนอุบลฯ) ทำให้มีความรู้สึกและเกิดคำถามว่า

“จังหวัดอุบลราชธานีก็เป็นจังหวัดที่ใหญ่เป็นอันดับสองในภาคอีสานรองจากนครราชสีมา มีผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ตั้ง 11 ท่าน มีมหาวิทยาลัยของรัฐ 2 แห่ง คือ ม.อุบลฯ และ ม.ราชภัฏอุบลฯ และมีมหาวิทยาลัยเอกชนอีก 2 แห่ง และอุบลราชธานีก็มีอะไรอีกต่างๆ มากมายที่เป็นที่รู้จักของคนไทย แล้วทำไมทีมฟุตบอลของชาวจังหวัดอุบลราชธานีถึงได้มีเป็นแบบนี้ ความหมายคือ ทั้งคนดูก็มีจำนวนน้อย นักฟุตบอลก็มีทั้งนักเตะต่างชาติ (ซึ่งไม่รู้ว่าชาติไหนบ้าง) ทั้งที่อุบลราชธานีมีโรงเรียนกีฬาประจำจังหวัด แล้วทำไมเรื่องกีฬาฟุตบอลของอุบลราชธานีถึงเป็นอย่างนี้”

ข้อสงสัยข้อคำถามของผู้เขียนดูอาจจะรุนแรงไปบ้างนะครับ จังหวัดอื่นๆ ตอนนี้มีนักการเมืองมีเศรษฐีของจังหวัดนั้นๆ เข้ามามีบทบาทในการพัฒนากีฬาฟุตบอลของจังหวัดของพวกเขาเหล่านั้น ผู้เขียนคงจะไม่ไปก้าวล่วงว่าทำไมนักการเมืองเหล่านั้นถึงมีอิทธิพลความสามารถทำให้กีฬาของจังหวัดของเขาสามารถพัฒนาได้เป็นอย่างดีจนเป็นที่อิจฉาของคนจังหวัดอื่นๆ ตัวอย่างที่บ้านเกิดของผู้เขียน คือ จังหวัดร้อยเอ็ด ประธานสโมสรฟุตบอลของจังหวัดร้อยเอ็ด คือ ท่านเศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์ (อดีต ส.ส. ร้อยเอ็ด) ท่านเป็นรักกีฬาฟุตบอลเป็นอย่างมากเป็นนักกีฬาฟุตบอลของโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย (ซึ่งเราเป็นรุ่นน้องๆ มักจะเรียกพี่เศกสิทธิ์ เขาว่า พี่หนูเอ) เป็นนักกีฬาฟุตบอลของจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นนักกีฬาฟุตบอลของทีมกสิกรไทยในอดีต พูดง่ายๆ คือ เป็นผู้ที่รักกีฬาฟุตบอลแล้วได้มีโอกาสมาทำทีมฟุตบอล ก็เลยทำให้คนร้อยเอ็ดได้มีโอกาสร่วมกันในการสร้างสรรค์ความรักที่ดีๆ เกี่ยวกับกีฬาฟุตบอล

ขอวกกลับมาที่จังหวัดอุบลราชธานี คนอุบลฯ ไปไหนกันหมด คนอุบลฯ นั้นมีศักยภาพมากมายมหาศาลที่จะสามารถร่วมกันพัฒนากีฬาฟุตบอลของจังหวัดให้ดีขึ้นได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่ท้าทายเป็นอย่างมาก หากเราลองคิดใหม่ทบทวนใหม่ว่าหากเราจะเป็นนครแห่งการพัฒนา (กีฬาฟุตบอล) ตามนโยบายของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว เราควรจะทำอย่างไร ผู้เขียนใคร่ขออนุญาตเสนอแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการพัฒนา ดังนี้

๑. อาจจะต้องเปลี่ยนนโยบายแนวความคิดที่จะใช้นักเตะต่างชาติ ควรจะลดจำนวนนักเตะต่างชาติแล้วหันมาหานักศึกษาที่เป็นลูกหลานคนอุบลฯ หรือกำลังศึกษาที่จังหวัดอุบลฯ เพื่อจะได้ให้เขาเหล่านั้นที่รักกีฬาฟุตบอลได้มีโอกาสแสดงศักยภาพของตนเองออกมา ซึ่งอาจจะใช้เวลา แต่ผู้เขียนคิดว่าไม่เป็นไร เพราะอุบลราชธานีเป็นนครแห่งการพัฒนา เราจะต้องมีการพัฒนา

๒. อาจจะต้องให้ทุกๆ ฝ่ายในจังหวัดอุบลราชธานีได้มีส่วนร่วมในการพัฒนากีฬาฟุตอบอลโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอาจจะพิจารณาเป็นประธานสโมสร โดยมีที่ปรึกษาเป็นคณะที่ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดอุบลราชธานีทุกท่าน สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุบลราชธานี ท่านอธิการบดีของมหาวิทยาลัยในจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนคณะกรรมการพัฒนาก็ควรจะพิจารณาให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วม กล่าวง่ายๆ คือ ทุกภาคส่วนควรจะต้องเข้ามาช่วยกัน ใครมีอะไรก็มาช่วยกัน เน้นการมีส่วนร่วมในได้มากที่สุด ซึ่งจะตรงกับนโยบายของจังหวัดอุบลราชธานีเรื่อง นครแห่งการฮักแพง

๓. อาจจะต้องพิจารณาจัดหาเงินทุนในการพัฒนาเป็นกองทุน ซึ่งผู้เขียนคิดว่าหากเราคนอุบลฯ ต่างช่วยกันคนละไม้คนละมือก็จะสามารถทำได้ ภายชื่อว่า “คนอุบลฯ คนละบาท” อันจะเหมือนกันเมื่อครั้งในอดีตที่คนอุบลฯ ได้ร่วมกันคนละบาทในการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำมูล

ครับ ผู้เขียนยังเชื่อว่าคนอุบลฯ อีกไม่น้อยที่ต้องการจะเห็นความสำเร็จของทีมฟุตบอลประจำจังหวัดอุบลราชธานี ขอย้ำนะครับว่า ทีมฟุตบอลของคนอุบลฯ เพื่อคนอุบลฯ เราคนอุบลฯ ไม่ต้องไปน้อยใจว่าทีมฟุตบอลจังหวัดโน้นจังหวัดนี้เขาถึงมีการพัฒนาเป็นอย่างดีและก้าวไปไกล หลายจังหวัดประสบความสำเร็จด้วยก็เพราะอะไรนั้นผู้เขียนเชื่อว่าเราทราบกันดีว่าเพราะอะไร อย่างไรก็ดี หากคนอุบลฯ เริ่มต้นด้วยการมาร่วมกันสร้างร่วมกันเชียร์ร่วมกันคิดร่วมกันให้กำลังใจซึ่งกันและกันในการสร้างทีมฟุตบอล เราพยายามอย่าสร้างทีมฟุตบอลโดยการเอาเรื่องเงินมาเป็นตัวตั้ง ใครมีอะไรก็เอามาช่วยกันเท่าที่เราทำได้ เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วผู้เขียนเชื่อว่า คนอุบลฯ จะต้องมีทีมฟุตบอลเพื่อคนอุบลฯ จริงๆ

สุดท้ายและท้ายสุดจริงๆ ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะไม่ใช่คนอุบลฯ แต่ก็มามีอาชีพและใช้ชีวิตที่อุบลฯ ก็อยากจะมีส่วนช่วยร่วมในการพัฒนาอุบลราชธานี ตามนโยบายของท่านผู้ว่าราชการที่ว่า นครแห่งการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านกีฬาฟุตบอล หากมีอะไรที่ผู้เขียนที่พอช่วยได้ก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง และมีความสุขเป็นอย่างมากที่จะได้มีโอกาสในการมีส่วนร่วมดังกล่าว

วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554

UBON Model

สืบเนื่องจากที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี (ท่านสุรพล สายพันธ์) ได้กำหนดและมอบนโยบายของจังหวัดอุบลราชธานีเป็น ๔ นคร ประกอบด้วย นครแห่งธรรม นครแห่งเทียน นครแห่งการพัฒนา นครแห่งความฮักแพง และในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ประเทศไทยของเราจะต้องเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ดังนั้น เรื่องของการเตรียมความพร้อมด้านภาษาเพื่อการสื่อสารระหว่างอาเซียนก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราชาวจังหวัดอุบลราชธานีควรจะให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ภาษาอังกฤษ”
อย่างไรก็ดี เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และ นโยบายการเป็นประชาคมอาเซียน ผู้เขียนจึงใคร่ขออนุญาตนำเสนอ UBON model ตัวแบบอุบลเพื่อการพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นตัวแบบให้ประชาคมอาเซียนหรือต่างประเทศได้รับทราบผ่านภาษาอังกฤษ ที่ว่า UBON model ดังนี้

U = Unity คือ ความเอกภาพ หมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวจังหวัดอุบลราชธานี เป็นความสมัครสมานสามัคคีกัน ซึ่งจะตรงกับนโยบายด้านนครแห่งความฮักแพง
B = Beauty คือ ความสวยงาม หมายถึง ความสวยงามของงานแห่งเทียนเข้าพรรษาของชาวจังหวัดอุบลราชธานี และความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจะตรงกับนโยบายด้านนครแห่งเทียน

O = Optimum คือ ภาวะที่ดีที่สุด หมายถึง การกระทำใดๆ ของชาวจังหวัดอุบลราชธานีที่คำนึงถึงสิ่งที่ดีที่สุดตามธรรมชาติและธรรมะ ซึ่งจะตรงกับนโยบายด้านนครแห่งธรรม
N = Network คือ เครือข่าย หมายถึง การพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานีในด้านต่างๆ จะต้องทำงานประสานร่วมกันเป็นเครือข่ายทั้งจังหวัดไปด้วยกัน ซึ่งจะตรงกับนโยบายด้านนครแห่งการพัฒนา

ครับ UBON Model ข้างต้นหากว่าได้รับการวิพากษ์วิจารณ์นำเสนอต่อยอดโดยให้ทุกคนชาวจังหวัดอุบลราชธานีได้ร่วมกันให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมหรือข้อเสนอแนะ ผู้เขียนรับรองได้ว่าจะทำให้การทำงานของทุกส่วนในจังหวัดอุบลราชธานีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก้าวเดินไปพร้อมกันในทิศทางเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน ตัวแบบดังกล่าวจะเป็นตัวแบบที่เป็น “การทำงานที่เน้นการสร้างเครือข่ายที่เป็นเอกภาพและมีความสวยงามโดยคำนึงถึงสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับจังหวัดอุบลราชธานี” ที่นี้การประยุกต์ใช้ตัวแบบดังกล่าวจะทำอย่างไรดี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชาวอุบลราชธานีทุกท่านควรจะต้องให้ความสำคัญและออกมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ ซึ่งผู้เขียนเองก็ไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอเพียงแต่นำเสนอเท่านั้นครับ
สำหรับการประยุกต์ใช้กับสถาบันอุดมศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้เขียนก็อยากจะแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ บุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าถ้าหากเราต้องการประยุกต์กับมหาวิทยาลัย UBON Model ควรจะเป็นอย่างนี้ได้หรือเปล่าครับ
U = Unity มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมีความสมัครสมานสามัคคีกันทุกระดับทุกหมู่เหล่า ทุกคณะทุกสำนัก

B = Beauty มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีความงามในเรื่องของน้ำใจ และการปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับหน้าที่ของแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา บุคลากรและอาจารย์
O = Optimum มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีความดีเป็นที่ตั้งให้นักศึกษา บุคลากรและอาจารย์ได้พร้อมกันปฏิบัติตามหลักของธรรมะ

N = Network มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีความเป็นเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกเพื่อเชื่อมโยงสื่อสารทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
สรุป คือ UBON Model สำหรับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีอาจจะเป็นตัวแบบที่เราทุกคนอย่างยึดถือในการเรียน การสอน การทำงานที่เน้นเรื่อง ความดี ความงามของจิต ความสามัคคี และ ความเป็นเครือข่ายร่วมกัน ซึ่งหากเป็นดังกล่าวแล้วนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าเราทุกคนไม่ว่าจะอยู่สังคมไหนก็ตามแต่จะสามารถมีความสุขร่วมกันอย่างแน่นอน ดังนั้น เราสามารถทำให้ UBON Model สำเร็จได้ด้วยการเริ่มต้นคิดดี คิดจะทำให้สิ่งที่ดีๆ ถ้าหากเป็นนักศึกษาก็เริ่มต้นจากคิดดีว่าจะต้องตั้งใจเรียนที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีให้สำเร็จในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าหากเป็นบุคลากรเจ้าหน้าที่ก็เริ่มต้นด้วยการคิดดีตั้งใจในการทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จและมีประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงสุดต่อมหาวิทยาลัย ถ้าหากเป็นอาจารย์ก็เริ่มต้นด้วยการคิดดีตั้งใจทำหน้าที่สอนเป็นครูที่ดีตามหน้าที่ภาระงานที่กำหนดไว้ ซึ่งเมื่อเริ่มต้นด้วยการคิดดีแล้วสิ่งที่ตามมาคือมันจะงอกเงยความดีและความงามมาในที่สุด เกิดความสามัคคีร่วมกันทำความดีความงามกันเป็นเครือข่ายกันอย่างสมบูรณ์แบบตาม UBON Model ที่กำหนดไว้

วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554

3G กับการเรียนการสอน

ตามที่จังหวัดอุบลราชธานีโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด (นายสุรพล สายพันธ์) ได้ลงนาม MOU กับ TOT เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2554 ในการพัฒนาระบบสื่อสารเชื่อมต่อข้อมูลข่าวสารอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดให้มีการพัฒนาระบบ 3G ใช้ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับนักเรียน นักศึกษาและประชาชนอย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงในบทความก่อนหน้านี้มาแล้ว หลายๆ ท่านอาจจะสงสัยว่า “G” มันคืออะไรกันแน่
G มาจาก Generation หรือ รุ่น ซึ่งมีผู้รู้ผู้ที่เชี่ยวชาญได้กล่าวถึงระบบ 3G อย่างมากมาย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขออนุญาตสรุปสั้นเกี่ยวกับความเป็นมาของ 3G พอเป็นสังเขปประกอบ ดังนี้

1G เป็นการสื่อสารรุ่นแรกที่สื่อสารผ่านระบบโทรศัพท์ที่มีระบบเสียงเท่านั้นระหว่างผู้รับและผู้ส่ง

2G เป็นการสื่อสารรุ่นสองที่สื่อผ่านผ่านระบบโทรศัพท์เหมือนรุ่นแรกเพียงแต่มีความสามารถประสิทธิภาพสูงขึ้นในการเพิ่มในประเด็นของข้อความสั้นหรือที่เราเรียกว่าSMS และ รูปภาพทั้งชนิดนิ่งและเคลื่อนไหว ที่เรียกว่า MMS

3G เป็นการสื่อสารรุ่นที่สามที่เพิ่มประสิทธิภาพจากรุ่นที่สองโดยเพิ่มระดับความสามารถในการส่งข้อมูลที่มีความเร็วที่สูงขึ้นสามารถที่สื่อสารทั้งเสียงทั้งภาพพร้อมกันในลักษณะที่อาจจะเรียกว่า Real Time

ดังนั้น จะเห็นว่า 3G จะทำให้การสื่อสารระหว่างผู้รับผู้ส่ง (ซึ่งอาจจะมีมากกว่า 2 คน ทั้งสองฝั่งในเวลาเดียวกัน) สามารถที่จะติดต่อกันด้วยการที่เห็นหน้าเห็นตาพูดคุยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการสื่อสารระบบ 3G จะหลีกหนีอินเทอร์เน็ตทั้งระบบสายและไร้สายไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบไร้สายที่ทำให้เราไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถที่จะเชื่อมต่อติดต่อสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กล่าวสำหรับคำถามที่ว่า "แล้ว3G มีประโยชน์ของต่อการเรียนการสอนจริงหรือไม่" นั้นเป็นสิ่งที่เราทุกคนในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีควรที่จะมาแลกเปลี่ยนทัศนคติความคิดเห็นเพื่อจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนอื่นเราทุกคนคงจะยอมรับว่าทุกวันนี้และอนาคตเราไม่สามารถที่จะหนีพ้นการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างแน่นอน (เพราะอะไรท่านก็คงจะทราบดี) ที่นี้เรามาลองดูข้อดีประโยชน์ของ 3G ในด้านต่างๆ

ด้านการสอน

สมมติว่าอาจารย์ผู้สอนมีความจำเป็นจะต้องไปราชการต่างจังหวัดโดยด่วนไม่สามารถที่จะเข้าสอนในช่วงเวลาปกติได้ แต่อาจารย์ท่านดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ที่รองรับการใช้งาน 3G และอาจารย์ก็มีอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เช่น SmartPhone Tablet Notebook เป็นต้น และในอุปกรณ์นั้นมีโปรแกรมสำหรับการเชื่อมต่อซึ่งอาจจะเป็น Skype โดยอาจารย์อาจจะส่งข้อความถึงหัวหน้าห้องผ่าน Facebook (เนื่องจากนักศึกษาทุกคนก็มีอุปกรณ์ในการสื่อสารและการเรียนอาจจะเป็น Notebook หรือ โทรศัพท์ที่รองรับ Facebook ให้หัวหน้าห้องเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ที่อยู่หน้าห้องเรียน (ซึ่งหัวหน้าห้องก็จะต้องมี Account ของ Skype เช่นกัน) ดังนั้น อาจารย์ก็สามารถที่บรรยายสอนได้เสมือนปกติ ประการสำคัญคือ คอมพิวเตอร์ที่อยู่หน้าห้องเรียนจะต้องมีกล้อง (Web Cam) ด้วยเพื่อจะได้เห็นภาพเห็นหน้ากันทั้งสองฝ่ายทั้งผู้เรียนและผู้สอน

ด้านการเรียน

นักศึกษาสามารถใช้อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่รองรับ 3G (SmartPhone Tablet Notebook) ในการสืบค้นข้อมูลด้วยความเร็วสูงได้ทุกสถานที่ไม่ว่าจะเป็นโรงอาหาร ห้องนั่งเล่น ใต้ถุนอาคารเรียน หรือที่ไหนก็แล้ว สามารถที่ดูและฟังการสอนของอาจารย์ที่สอนไปแล้ว (ในกรณีที่ห้องเรียนนั้นมีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวการสอนของอาจารย์และบันทึกลงในเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายกลางของมหาวิทยาลัย) ทำให้นักเรียนสามารถทบทวนบทเรียนการสอนของอาจารย์และทำความเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น หากนักศึกษามีปัญหาหรือข้อสงสัยในการเรียนก็สามารถที่แลกเปลี่ยนสอบถามอาจารย์ผู้สอนได้ทันทีโดยอาจจะผ่าน Facebook ของรายวิชานั้นๆ ซึ่งจะทำให้นักศึกษาในกลุ่มที่เรียนได้เรียนรู้ได้รับทราบไปด้วยกันพร้อมที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มเติมได้

ด้านการเรียนการสอน

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าการใช้ 3G นั้นทั้งอาจารย์และนักศึกษาสามารถที่จะได้รับประโยชน์อย่างมาก และสิ่งหนึ่งที่สะดวกต่ออาจารย์ผู้สอน คือ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนอาจารย์สามารถตรวจงานของนักศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาจารย์อาจจะตั้งคำถามไว้ใน twitter ของรายวิชา แล้วให้นักศึกษาตอบคำถามให้ Blog แล้วอาจารย์ก็กำหนดว่าเมื่อทำเสร็จแล้วให้นำ Link ของ blog ไป post ที่กลุ่มรายวิขาใน Facebook ซึ่งจะทำให้ทราบว่านักศึกษาคนใดส่งงานก่อนเพื่อนๆ และเพื่อนนักศึกษาในกลุ่มก็สามารถที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของเพื่อนๆ ผ่าน blog และ Facebook ของกลุ่มรายวิชา นอกจากนั้น อาจจะให้นักศึกษานำเสนอผลงานผ่าน Youtube อาจารย์ก็สามารถตรวจผลงานของนักศึกษาได้ทุกที่ทุกเวลาที่มีอินเทอร์เน็ตผ่าน 3G และสามารถมอบหมายให้นักศึกษาทุกคนในกลุ่มรายวิชา comment ผลงานของเพื่อนๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาร่วมกันอย่างสร้างสรรค์
ครับกล่าวได้ว่า 3G กับการเรียนการสอนนั้นผู้เขียนคิดว่าเราสามารถประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่ออาจารย์ผู้สอนและนักศึกษาโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หากว่าเราต้องการให้นักศึกษามีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะเริ่มเรียนรู้การใช้ประโยชน์ของระบบ 3G อย่างไรก็ดี ผู้เขียนขออนุญาตนำเสนอความหมายของ 3G สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดังนี้

G ตัวที่ 1 คือ Growth การเจริญเติบโต หมายถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีการเจริญเติบโตมีความพร้อมที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคมและประเทศชาติ
G ตัวที่ 2 คือ Good ความดี หมายถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีสร้างความดีให้กับตัวเองและสังคม พร้อมทั้งสัญญาว่าจะทำความดีให้กับประเทศชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์

G ตัวที่ 3 คือ Globalisation โลกาภิวัตน์ หมายถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นผู้ที่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในด้านต่างๆ อันจะสามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น ผู้เขียนคิดว่าหากนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีนำ 3G ข้างต้นไปใช้ในการเรียน เชื่อได้ว่าจะสามารถพัฒนาตัวเองจนเป็น 4G ในที่สุด สำหรับ G ตัวที่ 4 คอยติดตามในบทความครั้งต่อๆ ไป นะครับ