วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เมื่อเกิดภัยพิบัติ แล้ว ม.อุบลฯ เกี่ยวข้อง?

ในสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยของเราดั่งที่ทราบกันดีว่าพี่น้องชาวไทยของเราในพื้นที่ภาคกลาง ปริมณฑล และ กรุงเทพมหานคร ต่างประสบกับภัยพิบัติทางน้ำที่เรียกว่า "อุทกภัย" ซึ่งเราคนไทยไม่ว่าจะส่วนภูมิภาคใดของประเทศหากเราไม่ได้ผลกระทบดังกล่าวก็สมควรจะต้องให้การช่วยเหลือในทุกด้านตามศักยภาพที่เราจะสามารถจะกระทำได้

จังหวัดอุบลราชธานี มีสถาบันอุดมศึกษาหลักที่ประชาชนต่างคาดหวังว่าจะมีส่วนช่วยเหลือในภัยพิบัติดังกล่าว ทั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเมื่อวันอังคารที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ได้เห็นชอบในหลักการสนับสนุนการดำเนินงานของ เครือข่ายอีสานใต้ จัดการรับมือภัยพิบัติ (คจภ.) South Isan Networks for Coping Disaster (SINCD) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของภาครัฐ ภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และอื่นๆ ที่เน้นการทำงานด้วยจิตอาสา โดย คจภ. ประกอบด้วย
(1) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
(2) ศูนย์จัดการความรู้รับมิอภัยพิบัติ (ศจภ.) ตั้งอยู่สำนักงานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ชั้น 6
(3) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี
(4) โครงการอุบล-วาริน โมเดล
(5) มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน (SHARE) .เขมราฐ จ.อุบลราชธานี
(6) ลนิธิขวัญชุมชน จ.สุรินทร์
(7) เครือข่ายชุมชนฮักน้ำของ
(8) ศูนย์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเยาวชน
(9) เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง อุบลราชธานี
(10)ศูนย์อาสาสมัครป้องกันภัยและพัฒนาชุมชน อุบลราชธานี
(11)โครงการบ้านมั่นคง จ.อุบลราชธานี
(12)ชมรมนักศึกษาข้าวเหนียวปั้นน้อย ม.อุบลฯ
(13)ชมรมนักศึกษาเพื่อนวันสุข ม.อุบลฯ
(14)เครือข่ายโรงเรียนยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลุ่มที่ 1 (บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี มุกดาหาร และ นครพนม)
(15)อื่นๆ เครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่น โทรทัศน์ท้องถิ่น นักข่าวพลเมืองสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ฯลฯ
ผู้เขียนคิดว่าการดำเนินงานของ คจภ. จะสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่ว่า "สร้างสรรค์ สามัคคี สำนึกดีต่อสังคม" โดย คจภ. จะพยายามการระดมความคิดเห็นของทุกภาคส่วน ระดมการช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนให้เป็นระบบ มีผู้รับผิดชอบประสานงาน มีการตรวจสอบได้ และเป็นที่น่าดีใจว่าเหล่าอาสาสมัครในเบื้องต้นได้ประชุมกันเมื่อบ่ายวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปดังนี้

ที่

ภาระงาน
ขอบเขต
ผู้รับผิดชอบ

1. โครงการระยะสั้นการระดมของช่วยเหลือ

(1)
ศูนย์รับบริจาค
จุดรับบริจาคหลักคณะศิลปศาสตร์
ผศ.ดร.บุญสฤษฏ์ คณะศิลปศาสตร์ 081-6804679
จัดรับบริจาคย่อย สสจ.อุบลฯ ฯลฯ
ต้องรับสมัครจุดรับบริจาคเพิ่ม
(2)
ศูนย์ลำเลี้ยง
ประสานการส่งของบริจาคไปยัง จุดกระจายของ 5 จุด
หน. ยานพาหนะ
หน.โครงการจัดตั้งกองบริหารกายภาพฯ ม.อุบลฯ 080-4821491
(3)
ศูนย์ประชาสัมพันธ์
นำเสนอเรื่องราว ศักยภาพ และความเคลื่อนไหว ฯลฯ ทั้งสื่อสาธารณะ ท้องถิ่นและระดับชาติ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ
คำปิ่น อักษร นักข่าวพลเมือง TPBS 089-6277205 และ นศ.IT คณะวิทยาศาสตร์ ม.อุบลฯ
(4)
ศูนย์ข้อมูล
ข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวข้อง Update สถานการณ์
.ธวัช มณีผ่อง คณะศิลปศาสตร์
(5)
การเงิน
การรับเงินบริจาค ยอดเงิน รายการใช้จ่ายหลักฐานการบริจาค และการใช้เงิน
กองคลัง ม.อุบลฯ
(6)
งานประสานเครือข่าย
ปีสานส่วนต่างๆ เครือข่ายอื่นๆ ที่ให้ความช่วยเหลือใกล้เคียง เพื่อเชื่อมงานและข้าวของ ไม่เกิดความซ้ำซ้อน และการรวมตัวกันเป็นหน่วยเดียวจะมีพลังมากขึ้น ในการทำงาน
.อุบลฯ

ที่

ภาระงาน
ขอบเขต
ผู้รับผิดชอบ
2. โครงการเสริมพลังเครือข่ายเพื่อผู้ประสบภัย
(1)
โครงการผักพื้นบ้านฟื้นประเทศไทย
แนวคิด คือ การเพาะกล้าพันธุ์ผัก ที่ใช้รับประทานในครัวเรือน อาทิ พริกโหระพา ข่า ขิง ตะไคร้ ฯลฯ อันจำเป็นในชีวิตประจำวัน เพื่อสนับสนุนชุมชนทั้งในภาคกลางและภูมิภาค หลังภัยพิบัติ เพื่อลดค่าใช้จ่าย
คณะเกษตรศาสตร์ ม.อุบลฯ
คณะเกษตรศาสตร์ ม.อุบลฯ ชุมชนอโศก และ โครงการอุบล-วารินโมเดล
รณรงค์ ให้ เครือข่ายชุมชน หน่วยงานราชการ อปท. และประชาชนทั่วไป ปลูกกล้าพันธุ์ เพื่อจำเป็น ตั้งแต่ปัจจุบัน เพื่อพร้อมบริจาคในเวลาหลังน้ำลด ในพื้นที่ภัยพิบัติ
(2)
โครงการเรือเพื่อผู้ประสบภัย
อบรมการทำเรือ และกระจายความช่วยเหลือ
บริษัท Ubon Fiber Glass และโครงการอุบล-วาริน โมเดล
(3)
โครงการ EM ball
จัดหาวัตถุดิบ หรือเชื่อมกับผู้ผลิตรายอื่น
.ปวีณา วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์และการสาธารณสุข ม.อุบลฯ
สวท.อุบลฯ
งานกิจการ นศ. .อุบลฯ
ประชาสัมพันธ์ นศ. และประชาชนมาร่วมปั้น
(4)
โครงการสนับสนุนยา
ยา 4 ตำรับ ในการป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม
คณะเภสัชฯ และ โครงการอุบล-วาริน โมเดล
ของรับการสนับสนุนจาก อภัยภูเบศว์
(5)
โครงการข้าวปลาอาหาร จากลำมูน และ แม่โขง สู่ เจ้าพระยา
ระดมการบริจาคข้าวสาร ปลาแห้ง อาหารแห้ง จาก เครือข่ายชุมชน ชาวประมง จากลุ่มน้ำมูนและ ลุ่มน้ำโขง เปิดโลกผู้ร่วมทุกข์ จากน้ำ และการจัดการน้ำ
คปสม.อุบลฯ
และ โครงการอุบล-วาริน โมเดล
(6)
โครงการขวดใช้ซ้ำ
รณรงค์ ขวดพลาสติกใส เพื่อนำมาสร้างประโยชน์ อาทิ ใส่น้ำ ปลุกกล้าพันธุ์ผัก ฯลฯ
ชมรม นศ. ข้าวเหนียวปั้นน้อย และ ชมรม เพื่อนวันสุข

ที่

ภาระงาน
ขอบเขต
ผู้รับผิดชอบ
(7)
โครงการผลิตงานศิลปะเพื่อช่วยภัยพิบัติ
ผลิตงานศิลปะเพื่อจำหน่าย ระดมทุน
ดร.กัญญา จึงวิมุติพันธ์ คณะศิลปประุกต์ฯ ม.อุบลฯ
(8)
โครงการที่ระลึกวันมหิดล สู่ ผู้ประสบภัย
จำหน่ายของที่ระลึกวันมหิดล เพื่อระดมทุน
วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์และการสาธารณสุข ม.อุบลฯ
3. โครงการงานฟื้นฟูหลังน้ำลด
(1)
ด้านสุขภาพ
วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์และการสาธารณสุข ม.อุบลฯ
(2)
ด้านเกษตร
คณะเกษตรศาสตร์ ม.อุบลฯ
(3)
ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย
คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อุบลฯ
สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี ผู้เขียนได้ต้อนรับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี (ท่านสุรพล สายพันธ์) เมื่อเช้าวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ในโครงการรับมอบจักรยานจากผู้อำนวยการสำนึกรักบ้านเกิด (DTAC) และได้ทราบจากท่านผู้ว่าฯ ว่าสถานการณ์ระดับแม่น้ำมูลนั้นเริ่มจะทรงตัวและลดลง ทั้งนี้ จังหวัดอุบลราชธานีได้ดำเนินการสูบน้ำที่แก่งสะพือให้ไหลสู่แม่น้ำโขงให้เร็วขึ้น เนื่องจากที่แก่งตะนะนั้นการไหลของน้ำค่อนข้างจะเร็วการไปสูบ ณ แก่งตะนะ จะไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด นอกจากนั้น ยังมีการสูบน้ำจากลำน้ำมูลเข้าสู่พื้นที่นาที่ทำการเก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้วพร้อมทั้งนำน้ำจากลำน้ำมูลไปสู่พื้นที่ที่เป็นหนองน้ำตามลำน้ำมูลเพื่อใช้ในฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง ดังนั้น จึงทำให้สถานการณ์อุทุกภัยลำน้ำมูลของจังหวัดอุบลราชธานีจะไม่รุนแรงมาก และเช่นเดียวกัน ท่านผู้ว่าฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้จังหวัดอุบลราชธานีช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเขตตลิ่งชัน (ผู้เขียนเข้าใจว่ารัฐบาลคงจะมอบหมายให้จังหวัดต่างๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบอุทกภัยรุนแรงช่วยเหลือเขตต่างๆ ในกรุงเทพมหานครซึ่งมีจำนวน ๕๐ เขต) และก่อนที่ท่านผู้ว่าฯ จะกลับได้นำเรียนถึงเรื่อง "คจภ" ซึ่งท่านให้ความกรุณาและยินดีที่จะลงนามในประกาศของจังหวัดอุบลราชธานี ในการแต่งตั้งคณะกรรมการ คจภ. เพื่อเป็นระดมสัพกำลังด้านต่างๆ ในช่วยเหลือเพื่อนๆ คนไทยที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติเท่าที่เราจะทำได้โดยเน้นการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนต่างๆ โดยในเรื่องนี้เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ก็เป็นที่น่าดีใจที่ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (รศ.ดร.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข) ได้เห็นชอบในหลักการสำหรับการเปลี่ยนโครงสร้างกองกลาง (สำนักงานอธิการบดี) ที่ให้เพิ่มเติมจากเดิม "งานประชาสัมพันธ์" เป็น "งานประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์" อันจะทำให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจะต้องให้ความสำคัญกับงานชุมชนสัมพันธ์ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยในทุกระดับ
สำหรับภัยพิบัตินั้นเป็นสิ่งที่เราทุกคนล้วนไม่ต้องการพบเจอ หลายๆ ประเทศเจอกับภัยพิบัติด้านแผ่นดินไหว ภัยพิบัติด้านอากาศ (ทั้งร้อนและหนาว) ภัยพิบัติด้านน้ำ (ทั้งน้ำมากและน้ำน้อย) ประเทศไทยของเราเราคนไทยควรจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆ เพราะเป็นเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยภัยพิบัตินั้นเกิดจากธรรมชาติ และธรรมชาตินี้แหละก็เกิดจากการกระทำของมนุษย์ทั้งนั้น เราทำลายป่า เราทำลายธรรมชาติโดยการใช้สารเคมี ด้วยเหตุนี้ คจภ. เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔) ที่ว่า "ภูมิปัญญาแห่งภูมิภาคลุ่มน้ำโขง" โดยภูมิปัญญาดังกล่าวจะต้องเกิดจากการเรียนรู้ทั้งที่มาจากผู้รู้ผู้มีภูมิปัญญาของชุมชนที่มีอยู่แล้ว จากคนโบร่ำโบราณมีภูมิปัญญาที่อยู่กับธรรมชาติต่อสู้กับธรรมชาติได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น หากเมื่อเกิดภัยพิบัติไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตามแต่ แล้ว ม.อุบลฯ ควรจะต้องดึงเอาอัตลักษณ์ของนักศึกษา และเอกลักษณ์ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกำหนดไว้ออกมาช่วยเหลือชุมชนสังคม ทั้งนี้ ผู้บริหาร (ทุกระดับ) อาจารย์ คณาจารย์ บุคลากรและเจ้าหน้าที่ ควรจะต้องทำเป็นตัวอย่างให้กับนักศึกษาเพื่อที่จะให้นักศึกษาเป็นผู้มีส่วนร่วมกับในการช่วยเหลือชุมชนสังคม สมกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่ว่า "เป็นสติและปัญญาแก่สังคม บนพื้นฐานความพอเพียง" และหาก ม.อุบลฯ สามารถทำให้อัตลักษณ์และเอกลักษณ์เป็นจริงได้ โดยหากนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีประมาณ ๑๘,๐๐๐ คน ศิษย์เก่าอีกประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน และ บุคลากรมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีประมาณ ๑,๖๐๐ คน ลงมือปฏิบัติลองดู เราจะสามารถต่อสู้กับภัยพิบัติต่างๆ ได้อย่างแน่นอนครับ
นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ต้องการเป็นอาสาสมัคร เชิญเข้าไปที่ คจภ.
Facebook : เครือข่ายอีสานใต้ จัดการรับมือภัยพิบัติ
หรือ Facebook : ubon flood
หรือ ติดต่องานประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี (หลังเก่า) ชั้น ๑

วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

น้ำเอย น้ำท่วม & น้ำใจ

ชื่อเรื่องของวันอาทิตย์นี้ (วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๔) ผู้อ่านคงจะพอเข้าใจเป็นอย่างดีว่าจะเกี่ยวกับเรื่องอะไร อย่างไรก็ดี ผู้เขียนขอให้ผู้อ่านได้หยุดคิดเสียก่อนนิดหนึ่ง
เราลองมาเริ่มต้นคิดเกี่ยวกับระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมที่ล้วนมีความเกี่ยวพันกันไปหมด ประเทศตะวันออกกลางที่หลายประเทศต่างอิจฉาที่ประเทศเหล่านั้นร่ำรวยจากการสูบน้ำมันใต้แผ่นดินขึ้นมาขายจำหน่ายเป็นจำนวนมาก แล้วท่านคิดหรือไม่ว่าการสูบน้ำมันดังกล่าวนั้นน่าจะมีส่วนทำให้ชั้นใต้ดินมีการเปลี่ยนแปลง หรือที่ประเทศแห่งหนึ่งที่มีประชากรจำนวนมากได้สร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำจำนวนมากมายมหาศาล ย่อมทำให้เกิดการรับน้ำหนักของน้ำในเขื่อนดังกล่าว ซึ่งก็อาจจะทำให้ความสมดุลของแกนโลกเปลี่ยนแปลงไป (ผู้เขียนไม่มีความรู้เรื่องดังกล่าวมากมาย แต่คิดเอาเอง เดาเอาเองเท่านั้นครับ) ตะวันออกกลางสูบน้ำมันขึ้นมาจากใต้พื้นพิภพ อีกประเทศเก็บน้ำจำนวนมหาศาลไว้บนพื้่นพิภพ น่าจะมีผลกต่อความสมดุลและระบบนิเวศของโลกใบนี้ เมื่อความสมดุลเปลี่ยนไป สภาพแวดล้อมต่างๆ ก็ย่อมจะมีการปรับตัวตามไปด้วยอันก่อให้เกิดความสมดุลตามพลวัตร (Dynamic) ที่เกิดขึ้น นำมาซึ่งการเกิดปรากฎการณ์เปลี่ยนแปลงของธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นอากาศ (เกิดหิมะตกบางพื้นที่บางประเทศที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน) แผ่นดิน (เกิดแผ่นดินไหวที่นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ) ระดับน้ำทะเล มรสุม เกิดพายุฝน ซึ่งเป็นที่มาของ "น้ำ" ที่มาจากฝากฟ้า

แน่นอนครับ หากน้ำมีจำนวนพอเหมาะพอดีพอกับความต้องการของมนุษย์เราก็ย่อมจะเกิดประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพต่อการดำรงชีวิต อย่างไรก็ดี หากเมื่อไรที่ปริมาณน้ำในแต่ละปีมีน้อยกว่าความต้องการก็ย่อมจะเกิดความแห้งแล้งความทุกข์ร้อนตามมา แต่หากเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม คือ ปริมาณของน้ำมีจำนวนมากกว่าความต้องการเป็นจำนวนปริมาณมากๆ ย่อมจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า "ปรากฎการณ์น้ำท่วม"

ซึ่งในช่วงเวลานี้หลายพื้นที่จังหวัดในภาคกลางประสบภัยธรรมชาติจากน้ำ ซึ่ง "น้ำ" ที่ว่ามากจากธรรมชาติฝากฟ้าที่ตกลงมาอย่างมากมายจนเกินความต้องการที่จะกักเก็บในเขื่อนต่างๆ ได้ จนในที่สุดก็เกิดน้ำท่วมพื้นที่ต่างๆ ในลุ่มน้ำภาคกลาง เกิดความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสกับประชาชนเป็นจำนวนมาก บางพื้นที่เกิดความไม่ลงรอยกันเพราะเรื่องของระดับน้ำไม่ให้เข้าท่วมไร่นาพื้นที่ทางการเกษตรและพื้นที่ของชุมชนที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดี บางพื้นที่ได้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันเกิดความรักสามัคคีกันเห็นอกเห็นใจกันต่างก็ช่วยเหลือกันเท่าที่จะช่วยได้

สถานการณ์น้ำท่วม ทำให้ "นาย ก" หรือ "นายก" ที่ประชาชนได้เลือกและมอบหมายให้ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการบำบัดความทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนจะต้องทำงานหนักมากกว่าเดิมหลายเท่าน โดย "นายก" ที่ว่า มีหลายระดับตั้งแต่ นายก อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) นายกเทศบาล นายก อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) นายกเหล่ากาชาดจังหวัด (คุณนายผู้ว่าราชการจังหวัด) และที่สำคัญคือ นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย จะต้องหาหนทางบำบัดความทุกข์ของประชาชนในตอนนี้ให้ทุกข์น้อยลงให้ได้

แน่นอนครับปีนี้เราไม่สามารถที่จะห้ามฝนให้ตกลงมาได้ (และที่สำคัญคือ ไม่มีมนุษย์หน้าไหนที่จะห้ามไม่ให้ฝนตกลงมาได้) แต่เมื่อเกิดสภาวะ "น้ำท่วม" แล้ว เราคนไทยทุกคนทุกหมู่เหล่าควรจะต้องมี "น้ำใจ" ช่วยเหลือกันในทุกๆ ด้าน (หากไม่ช่วยอะไรก็ไม่ควรจะต้องพูดอะไรที่ก่อให้เกิดความแตกแยกขาดความสามัคคีในชาติขึ้นมาอีก)

เมื่อมีน้ำมากเกินไปเกินความจำเป็นก็เกิดน้ำท่วม เมื่อเกิดน้ำท่วมมากๆ แล้ว เราคนไทยควรจะมี "น้ำใจ" ให้มากๆ เหมือนกันน้ำที่ท่วม ขอให้กำลังใจและเอาใจช่วยทุกท่านที่ประสบภัยน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ เราคนไทยไม่ทิ้งกันครับ ท่านใดมีกำลังทรัพย์มากก็ช่วยกันบริจาคกันมากๆ นะครับ
มันก็เป็นอย่างนี้แหละท่าน "น้ำเอย น้ำท่วม & น้ำใจ"

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในมุมมองข้าพเจ้า

ผมขอขอบคุณประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่ให้เกียรติในการเขียนบทความ “เกี่ยวกับกว่าจะมาเป็นมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีการพัฒนาเติบโตด้านการศึกษา ด้านอำนวยความสะดวก ด้านอาคารสถานที่” เพื่อเผยแพร่ในการประชุมสัมมนากลุ่มสภานิสิต-นักศึกษาสัมพันธ์ จำนวน ๓๐ สถาบัน ครั้งที่ ๕๒ ระหว่างวันที่ ๒๘ สิงหาคม-๑ กันยายน ๒๕๕๔ ซึ่งผมก็คิดเหมือนกันว่าหากจะเขียนตามที่ประธานสภานักศึกษาได้กรุณาขอความอนุเคราะห์มานั้นอาจจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนั้น จึงขออนุญาตเปลี่ยนหัวข้อใหม่ คือ “ความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในมุมมองของข้าพเจ้า” โดยการเขียนครั้งนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลนะครับ

ครับ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ ขณะที่ผมกำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีปีสุดท้ายของภาคเรียนที่หนึ่งนั้นได้เห็นป้ายวิทยาลัยอุบลราชธานี สังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ ชั้น ๒ อาคารเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมก็ไม่ได้คิดอะไรมากและคิดว่าไม่เห็นจะเกี่ยวพันหรือเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร ก็ผ่านไปจนถึง พ.ศ.๒๕๓๓ ประมาณเดือนมิถุนายน ขณะนั้นเพื่อนๆ ที่กำลังศึกษาปริญญาโท (สาขาสถิติ ซึ่งผมเลือกเน้นไปด้าน MIS) ต่างสมัครทุนโครงการพัฒนาอาจารย์ UDC (University Development Commission) ไปอยู่มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ดังๆ เช่น จุฬาฯ นิด้า เชียงใหม่ ขอนแก่น พระนครเหนือ มศว. เป็นต้น แต่ผมเลือกสอบรับทุนของวิทยาลัยอุบลราชธานี (สังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น) ซึ่งตอนนั้นคิดเพียงแต่ว่าโอกาสน่าจะได้ทุนเพราะเนื่องจากไม่น่าจะมีใครสนใจสมัคร และก็เป็นอย่างที่ผมคาดคิด ปรากฏว่ามีผมสมัครเพียงคนเดียว โดยตอนนั้นก็ยังไม่รู้เลยว่า วิทยาลัยอุบลราชธานีอยู่ที่ตั้งตรงไหนสถานแห่งหนใด แล้วนั้นที่สุดผมก็ได้รับการคัดเลือก (โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์อุทิศ อินทรประสิทธิ์ เป็นผู้สอบสัมภาษณ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรรณวไล อธิวาสน์พงศ์ เป็นผู้พาไปลงนามทำสัญญาการรับทุน ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น)

ผมมารับราชการครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๓๕ (ที่เลือกรายงานตัววันดังกล่าวเพราะเป็นวันก่อนวันอาสาฬหบูชา ๑ วัน และวันต่อไปจะเป็นวันเข้าพรรษา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าวันเข้าพรรษา ที่จังหวัดอุบลราชธานี มีประเพณีที่สำคัญและยิ่งใหญ่) เดินทางมาถึงอาคารอเนกประสงค์ (ปัจจุบันคือที่ตั้งคณะบริหารศาสตร์) ถามตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าที่นี้เป็นมหาวิทยาลัยหรือเปล่า ถนนทางเข้าเป็นถนนลูกรังสีแดงเดือนกรกฎาคมหน้าฝนคงไม่ต้องบรรยายเลยครับ ทั้งมหาวิทยาลัยมีอาคารไม่กี่หลัง แต่ก็ยังดีที่มีที่พักให้เป็นแฟลตบุคลากร ๑ หลัง ๓ ชั้น ผมได้ความกรุณาถูกจัดสรรให้พักห้อง ๓๑๓ ถนนทางเข้าจากอาคารเอนกประสงค์ไปถึงแฟลตคงไม่ต้องบรรยายอีกนะครับ เพราะสภาพเหมือนกันเลย ไม่น่าจะเชื่อว่านี้คือที่เขาเรียกว่า “มหาวิทยาลัย” ณ อาคารเอนกประสงค์ที่กล่าวไว้ก่อนหน้าที่นั้น เป็นที่ตั้งของสำนักงานอธิการบดี สำนักงานคณะวิทยาศาสตร์ สำนักงานคณะเกษตรศาสตร์ ห้องสมุด ห้องเรียนรวม โรงอาหาร โครงการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ ห้องพยาบาล สรุปง่ายๆ คือ มีทุกอย่างที่อาคารแห่งนี้ นอกจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีอาคารเอนกประสงค์ในขณะนั้นแล้ว ยังมีอาคารเรียนรวมหลังที่ ๑ (ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันภาษาในขณะนั้น) อาคารปฏิบัติการด้านวิศวกรรมศาสตร์หลังที่ ๑ ๒ และ ๓ อาคารปฏิบัติการด้านเกษตรศาสตร์ อาคารหอพักนักศึกษา เป็นต้น อย่างไรก็ดี ก็ถือได้ว่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในขณะนั้นเรื่องของอาคารสถานที่กำลังถูกดำเนินการก่อสร้างเพื่อรองรับนักศึกษาในอนาคต
มาถึงตอนนี้ ผู้อ่านอาจจะยังไม่เห็นภาพความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อเริ่มทำงานคอมพิวเตอร์ก็ยังเป็นระบบ DOS ผมเองได้รับการมอบหมายให้จัดอบรมคอมพิวเตอร์ให้กับบุคลากรของจังหวัดอุบลราชธานี มีการจัดอบรมโปรแกรม DOS โปรแกรม Lotus 1-2-3 (ปัจจุบันเอกสารของผม โปรแกรม Lotus 1-2-3 อยู่ที่ห้องสมุด สำนักวิทยบริการ) ความก้าวหน้าเริ่มขึ้นแล้วครับ โปรแกรม Window เริ่มเข้ามาใช้งานที่มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๓๖ และผมก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเจริญก้าวหน้าด้านคอมพิวเตอร์ให้กับมหาวิทยาลัยด้วยโดยสอนวิชาภาษา Pascal (ปัจจุบันเอกสารของผม การเขียนภาษาคอมพิวเตอร์ปาสคาล อยู่ที่ห้องสมุด สำนักวิทยบริการ)

และต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๗ มหาวิทยาลัยเริ่มมีการก่อสร้างอาคารต่างๆ เพิ่มเติมขึ้น เช่น อาคารสำนักงานอธิการบดี อาคารคณะวิทยาศาสตร์ (ชีวภาพ เคมี ฟิสิกส์) อาคารสำนักวิทยบริการ โรงอาหารกลาง อาคารเรียนรวมหลังที่ ๒ และ ๓ ตามลำดับ โดยในปีนี้เองสำนักงานอธิการบดีหลังใหม่ขณะนั้นได้แล้วเสร็จ ทำให้มีการมองถึงอนาคตในวันข้างหน้า มหาวิทยาลัยจึงได้มีโครงการจัดตั้งสำนักคอมพิวเตอร์ โดยขณะนั้นผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการและเลขานุการคณะทำงาน ซึ่งมีท่าน รศ.ดร.เครือวัลย์ โสภาสรรค์ (รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ) เป็นประธาน และผมก็โชคดีที่มหาวิทยาลัยได้ให้โอกาสไปศึกษาดูงานด้านคอมพิวเตอร์ ณ University of Arkon สหรัฐอเมริกา นับได้ว่าความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีด้านคอมพิวเตอร์ได้เริ่มขึ้นและมีการเริ่มใช้งานการเชื่อมต่อ Internet ผ่านระบบโทรศัพท์ที่เรียกว่า e-mail ขึ้นครั้งแรกแต่ผ่านระบบ Unix เชื่อมต่อไปยังศูนย์คอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปีนี้เองมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้เริ่มมีบุคลากรด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาระบบถนนหนทางเชื่อมต่ออาคารต่างๆ ในมหาวิทยาลัยให้ได้มาตรฐานเพื่อบริการสำหรับนักศึกษาและประชาชน

ปี พ.ศ.๒๕๓๘ มหาวิทยาลัยได้เริ่มมีการพัฒนาด้านกายภาพมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ (ซึ่งเปลี่ยนสถานะจากสถาบันภาษา) คณะเภสัชศาสตร์ นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยยังพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งอาจารย์ไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ และมหาวิทยาลัยจัดสร้างอาคารสำนักวิทยบริการ (ซึ่งก็คือ ห้องสมุด) เพื่อให้บริการด้านหนังสือ วารสารและบทความ ความรู้ต่างๆ สำหรับนักเรียน นักศึกษา อาจารย์และประชาชนได้ใช้งาน อีกทั้ง มหาวิทยาลัยได้มีการวางแผนและก่อสร้างอาคารที่พักนักศึกษาเพิ่มเติม รวมทั้งอาคารที่พักสำหรับบุคลากรหลังที่ ๒, ๓ และ ๔ ตามลำดับ รวมทั้งการสร้างส่วนพื้นที่บริการในด้านการออกกำลังกาย นั้นคือ อาคารกีฬาเอนกประสงค์ อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เดือนสิงหาคม ผมเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ แต่ก็ได้เฝ้ามองมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีอยากจะเห็นความเจริญก้าวหน้าให้ทัดเทียมมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย และเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๔๔ ผมได้กลับมายังมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีอีกครั้ง ที่เห็นความเจริญก้าวหน้าไปอย่างมาก จากเดิมที่มีคณะประกอบด้วย คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ (ซึ่งมีอาคารเป็นของตัวเองเนื่องจากได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล) มหาวิทยาลัยมีคณะในกำกับ (ที่จะต้องใช้เงินรายได้ของมหาวิทยาลัย) คือ คณะบริหารศาสตร์ โดยมหาวิทยาลัยให้ใช้อาคารอเนกประสงค์ (อาคารหลังแรกที่ผมทำงาน) ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจะต้องมีคณะในกำกับ ก็เพราะในวิกฤตต้มยำกุ้งที่เกี่ยวข้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยเรานั้นรัฐบาลมีนโยบายไม่ให้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ที่เป็นภาระด้านอัตรากำลังคนและเงินงบประมาณ แต่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจำเป็นจะต้องพัฒนาด้านการศึกษาให้ครบถ้วนสมบูรณ์ในทุกสาขาวิชาอันเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะคณะบริหาศาสตร์มีสาขาวิชาที่น่าสนใจ เช่น การบัญชี ธุรกิจบริการ เป็นต้น

และในปี พ.ศ.๒๕๔๕ ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมพัฒนามหาวิทยาลัยในตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวางแผน ซึ่งมีหน้าที่จัดทำงบประมาณวางแผนพัฒนาด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัย (แต่ไม่ใช่วางแผนคนเดียวนะครับ) เพราะเรื่องต่างๆ จะต้องนำเข้าเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (ซึ่งประกอบด้วย อธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสำนัก) และหลังจากนั้นก็จะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย (ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก) เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งนับตั้งแต่มี พ.ศ.๒๕๔๕ เป็นต้นมานั้น มหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาด้านอาคารสถานที่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Food Centre สระว่ายน้ำ อาคารแฟลตที่พักบุคลากรหลังที่ ๕ โรงพละเอนกประสงค์ สนามกีฬากลาง อาคารสำนักงานอธิการบดีหลังใหม่ อาคารสำนักวิทยบริการ (ห้องสมุดหลังใหม่) อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ (EN6) อาคารวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ อาคารคณะเกษตรศาสตร์ โรงละครคณะศิลปศาสตร์ ในส่วนของการพัฒนาด้านสาขาวิชานั้น มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งคณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ และที่สำคัญ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้จัดตั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข เพื่อผลิตบุคลากรด้านสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สาขาแพทยศาสตร์ และ สาธารณสุขศาสตร์ ซึ่งสำหรับสาขาแพทยศาสตร์นั้นเป็นมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องการผลิตแพทย์เพิ่มมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจึงได้รับงบประมาณสนับสนุนการผลิต ทั้งนี้ได้มีก่อสร้างอาคารวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข อาคารส่งเสริมและวิจัยทางการแพทย์ ต่อมามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้จัดตั้งคณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าการจัดตั้งหน่วยงานใหม่นั้นไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ดังนั้น สำหรับคณะนิติศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยได้จัดสรรอาคารเรียน ๒ และ ๓ ให้เป็นสถานที่สำหรับสองคณะดังกล่าวตามลำดับ ดังนั้น จะเห็นว่าในตอนนี้ มหาวิทยาลัยมีหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ประกอบด้วย คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข คณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ อีกทั้ง ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนนอกที่ตั้ง ณ จังหวัดมุกดาหาร ภายใต้ชื่อว่า “วิทยาเขตมุกดาหาร” ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ พระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ “อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มหาราชา”ณ ภูผาเจีย วิทยาเขตมุกดาหาร และเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคาร “เทพรัตน์คุรุปภา” วิทยาเขตมุกดาหาร เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๒

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ มหาวิทยาลัยได้เปิดใช้อาคารเรียนรวมหลังที่ ๕ เพื่อรองรับกับจำนวนนักศึกษาและการจัดการเรียนการสอนของคณะต่างๆ และเช่นเดียวกันในปี พ.ศ.๒๕๕๓ มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ ซึ่งการรับนักศึกษาของคณะพยาบาลศาสตร์จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานของสภาการพยาบาลกำหนด อันจะทำให้คณะน้องใหม่สุดของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้รับรองพร้อมที่จะผลิตบัณฑิตพยาบาลออกไปรับใช้สังคมอย่างมีคุณภาพต่อไป สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๕๔ มหาวิทยาลัยได้เปิดใช้อาคารปฏิบัติการด้านโรงแรมและการท่องเที่ยว (ได้รับพระราชทานนามว่า “อาคารเทพรัตนสิริปภา”ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ พระราชดำเนินทรงเปิดอาคารดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๓) โดยในปี พ.ศ.๒๕๕๕ คาดว่ามหาวิทยาลัยจะเปิดใช้งานอาคารกิจกรรมบริการเพื่อสุขภาพ (PCU : Primary Care Unit) อาคารศูนย์เครื่องมือกลางและปฏิบัติการงานด้านการวิจัย และอาคารหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ (ซึ่งเป็นอาคารเอนกประสงค์ขนาดใหญ่เพื่อใช้รองรับการจัดประชุมสัมมนาขนาด ๕,๐๐๐ ที่นั่ง และจะใช้สำหรับพิธีพระราชทานปริญญาบัตร) และอีกไม่นานคาดว่าอีกประมาณ ๒ ปี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจะเปิดใช้อาคารวิจัยด้านสุขภาพ (โรงพยาบาล) ๑๒๐ เตียง อันจะเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติงานสำหรับนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาเภสัชศาสตร์ นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ นักศึกษาสาธารณสุขศาสตร์

จะเห็นว่าความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีนั้น มีคณะวิชาต่างๆ ประกอบด้วย คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะบริหารศาสตร์ คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข คณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และวิทยาเขตมุกดาหาร (เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ.๒๕๕๘) พร้อมทั้งมีหน่วยงานสนับสนุนด้านวิชาการ คือ สำนักวิทยบริการ (ห้องสมุด) สำนักคอมพิวเตอร์และเครือข่าย โดยมีสำนักงานอธิการบดีเป็นหน่วยงานกลางประสานงานหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าเพื่อความเจริญก้าวหน้ารับใช้สังคมต่อไปอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีนั้นได้ผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคมแล้วเกือบ ๑๐,๐๐๐ คน โดยมีนักศึกษาทุกระดับในปัจจุบัน (ปริญญาตรี โท และเอก) ประมาณ ๑๕,๐๐๐ คน พร้อมบุคลากรที่มีคุณภาพอีกประมาณ ๑,๕๐๐ คน นับได้ว่าตลอดระยะเวลายี่สิบกว่าปีที่ผ่านมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีก้าวจากจุดเริ่มต้นถึงปัจจุบันนั้น ได้สร้างสรรค์ผลงานด้านต่างๆ ให้กับประเทศอย่างมากมาย ถึงแม้ว่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีอาจจะไม่สามารถเทียบเท่ามหาวิทยาลัยใหญ่ๆ เก่าๆ แต่สิ่งที่เราภาคภูมิใจ คือ เราทำให้ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันได้เห็นคุณค่าของการเรียนหนังสือ ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภายใต้ข้อจำกัดด้านต่างๆ

ดังนั้น ความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในมุมมองของข้าพเจ้าสามารถสรุปในเชิงของปริมาณด้านวิชาการได้โดยการจัดตั้งคณะหลักสูตรในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ และสังคมศาสตร์ จะเห็นว่ามีคณะวิชาครบถ้วนในความต้องการของประเทศชาติ อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีคงจะต้องเพิ่มความก้าวหน้าในเชิงคุณภาพให้มากยิ่งขึ้นไปด้วย โดยคุณภาพที่ว่า คือ คุณภาพของบัณฑิตที่ออกไปรับใช้สังคม คุณภาพของงานวิจัยเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของสังคมและประเทศชาติ อีกทั้งประการสำคัญคือ มหาวิทยาลัยจะต้องบริการด้านวิชาการในแขนงต่างๆ ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัฒน์ รวมทั้งให้ความสำคัญของการที่จะรักษาวัฒนธรรมศิลปอันดีงานของท้องถิ่นเพื่อคงอยู่สู่ลูกหลานในภายภาคหน้า

สุดท้าย ผมอยากจะฝากว่าในความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยนั้น จะต้องช่วยกันทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา ศิษย์เก่า บุคลากร (อาจารย์ เจ้าหน้าที่ คนงาน) ผู้ปกครอง หน่วยงานราชการต่างๆ โดยผมขอฝากว่าหากจะสร้างความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนอาจจะต้องมีการพิจารณาร่วมกันในการสร้างตัวแบบเพื่อหล่อหลอมกำลังกายกำลังใจในการก้าวเดินไปพร้อมมัน ด้วย Ubon Model ดังนี้

U = Unity คือ ความเอกภาพ หมายถึง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมีความสมัครสมานสามัคคีกันทุกระดับทุกหมู่เหล่า ทุกคณะทุกสำนัก

B = Beauty คือ ความสวยงาม หมายถึง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีความงามในเรื่องของน้ำใจ และการปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับหน้าที่ของแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา บุคลากรและอาจารย์

O = Optimum คือ ภาวะที่ดีที่สุด หมายถึง การกระทำใดๆ ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีความดีเป็นที่ตั้งให้นักศึกษา บุคลากรและอาจารย์ได้พร้อมกันปฏิบัติตามหลักของสิ่งที่ดีที่สุดตามธรรมชาติและธรรมะ

N = Network คือ เครือข่าย หมายถึง การพัฒนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีความเป็นเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกเพื่อเชื่อมโยงสื่อสารทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพในด้านต่างๆ จะต้องทำงานประสานร่วมกันเป็นเครือข่ายทั้งมหาวิทยาลัยและภายนอก

นอกจากนั้น ผมอยากจะฝากนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีทุกท่านได้ก้าวทันระบบ ๓G และระบบ ๓G ที่ว่า คือ

G ตัวที่ ๑ คือ Growth การเจริญเติบโต หมายถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีการเจริญเติบโตมีความพร้อมที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคมและประเทศชาติ

G ตัวที่ ๒ คือ Good ความดี หมายถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีสร้างความดีให้กับตัวเองและสังคม พร้อมทั้งสัญญาว่าจะทำความดีให้กับประเทศชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์

G ตัวที่ ๓ คือ Globalisation โลกาภิวัฒน์ หมายถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นผู้ที่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในด้านต่างๆ อันจะสามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากทุกส่วนของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้นำ Ubon Model และนักศึกษารู้ซึ้งในระบบ ๓G ข้างต้นแล้ว ผมเชื่อว่าความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจะเจริญและพัฒนาอย่างยั่งยืน

อ้างอิง

วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ฟุตบอล กับ จ.อุบลฯ และ ม.อุบลฯ

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งฟุตบอลในต่างประเทศ อังกฤษ สเปน เยอรมัน และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าหลายๆ ท่านคงจะเป็นแฟนบอลของทีมต่างๆ ในอังกฤษ กีฬาฟุตบอลในต่างประเทศทำให้เราคนไทยได้เรียนรู้หลายๆ อย่าง หากจะนำมาเปรียบกับคำขวัญกีฬาของไทยที่ว่า “รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย” แล้วนั้น ยิ่งทำให้เราคนไทยควรจะต้องทบทวนให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุใดละครับ

ฟุตบอลของอังกฤษ เวลาที่นักกีฬาลงเล่นในสนามทุกคนเล่นภายใต้กติกาสากลที่กำหนดไว้ ทุกคนต่างรู้หน้าที่ของตนเองไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการทีม กองเชียร์ หรือใครตำแหน่งไหนก็ตาม นักฟุตบอลเมื่อเล่นก็เล่นอย่างเต็มที่ การแข่งขันเสร็จสิ้นลง นักกีฬาเขารู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เป็นอย่างดี ทุกคนต่างจับมือกันขอโทษ แสดงความยินดีกับผู้ชนะ และประการสำคัญ หากมีสิ่งที่ใดที่พวกเราได้เล่นรุนแรงในเกมส์การแข่งขัน พวกเราต่างให้อภัยกันและกัน (ซึ่งทุกอย่างในโลกใบนี้ หากเกี่ยวข้องกับผู้คนหมู่มากจะต้องมีกติกา มีการแข่งขัน เมื่อการแข่งขันจบลงแล้วจะต้อง “รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย” ให้ได้ ประเทศไทยของเราหากเป็นได้อย่างนั้น รับรองได้ว่าการพัฒนาด้านต่างๆ จะเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศอย่างแน่นอน)

กลับมาที่เมืองไทยประเทศไทยของเรา ฟุตบอลได้เข้ามีบทบาทเป็นอย่างมากในการพัฒนาเยาวชนที่มีความสามารถด้านฟุตบอล จังหวัดทุกจังหวัดล้วนมีทีมฟุตบอลประจำจังหวัดโดยอาจจะเป็นนักการเมือง หรือ ท่านผู้ว่าราชการ หรือ ผู้ที่มีฐานะดีและชอบกีฬาฟุตบอล เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างความสามัคคีในจังหวัดที่จะได้มีโอกาสร่วมกันสร้างนักฟุตบอลเยาวชนของจังหวัด ร่วมกันเชียร์ทีมฟุตบอลของจังหวัดตนเอง

ฟุตบอล กับ จ.อุบลฯ ของเราก็นับว่าโชคดีที่ตอนนี้ผู้ว่าราชการ (ท่านสุรพล สายพันธ์) เป็นประธานสโมสรฟุตบอลมีคณะกรรมการจากทุกภาคส่วน เพื่อทำให้เกิดความสามัคคี ทั้งนี้ การพัฒนาทีมฟุตบอลประจำ จ.อุบลฯ แบบบูรณาการ อาจจะพิจารณายึดหลักการ ดังนี้
หลักการดำเนินงานของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เมือง ๔ นคร (นครแห่งเทียน นครแห่งธรรม นครแห่งการพัฒนา และนครแห่งการฮักแพง) โดยการพัฒนาทีมฟุตบอลประจำจังหวัดจะทำให้เกิดเป็น "นครแห่งการพัฒนา (กีฬาฟุตบอล)" และ "นครแห่งการฮักแพง (สามัคคีกันช่วยกันเชียร์ทีมฟุตบอลของชาวอุบลฯ)" และใช้ UBON model ในการพัฒนาฟุตบอล

U = Unity คือ เอกภาพ หมายถึง การเล่นฟุตบอลที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทีมฟุตบอล เป็นความสมัครสมานสามัคคีกันของทีมฟุตบอลจังหวัดอุบลราชธานีทั้งนักกีฬา ผู้สนับสนุน กองเชียร์

B = Beautify คือ ทำให้เกิดความสุข หมายถึง การเล่นฟุตบอลที่ทำให้เกิดความสุขทั้งผู้เล่นผู้แข่งขัน ผู้สนับสนุน กองเชียร์

O = Opportunity คือ โอกาสที่ดีที่สุด หมายถึง การเล่นฟุตบอลที่ใช้โอกาสในการทำประตูคู่แข่งขันให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งผู้สนับสนุนกองเชียร์ก็มีส่วนร่วมในการทำประตู กล่าวคือ การเชียร์ที่สร้างสรรค์และมีพลัง อีกทั้ง การให้โอกาสที่ดีๆ สำหรับลูกหลานชาวอุบลราชธานีได้มีโอกาสในการเล่นฟุตบอลและพัฒนาฟุตบอล

N = Never-ending คือ การไม่ยอมหมดสิ้น หมายถึง การเล่นฟุตบอลที่ทั้งทีม (ไม่ว่าจะผู้เล่น ผู้ฝึกสอน ผู้สนับสนุน กองเชียร์) จะไม่มีเวลาที่หมดสิ้นความหวังในการทำประตูของทีมคู่ต่อสู้ เราพร้อมที่ไปสู่เป้าหมายของชัยชนะ กล่าวคือ เป้าหมายมีไว้ให้พุ่งชน

โดยมีวิธีการเบื้องต้น
๑. ปรับเปลี่ยนนโยบายแนวความคิดที่จะใช้นักเตะต่างชาติ ควรจะลดจำนวนนักเตะต่างชาติแล้วหันมาหานักศึกษาที่เป็นลูกหลานคนอุบลฯ หรือกำลังศึกษาที่จังหวัดอุบลฯ เพื่อจะได้ให้เขาเหล่านั้นที่รักกีฬาฟุตบอลได้มีโอกาสแสดงศักยภาพของตนเองออกมา ซึ่งอาจจะใช้เวลาแต่ก็คงสามารถดำเนินการได้ เพราะอุบลราชธานีเป็นนครแห่งการพัฒนา เราจะต้องมีการพัฒนา

๒. อาจจะต้องให้ทุกๆ ฝ่ายของจังหวัดอุบลราชธานีได้มีส่วนร่วมในการพัฒนากีฬาฟุตอบอลโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอาจจะพิจารณาเป็นประธานสโมสร โดยมีที่ปรึกษาเป็นคณะกรรมการที่ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดอุบลราชธานี (ทุกท่าน) สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุบลราชธานี (ทุกท่าน) อธิการบดีของมหาวิทยาลัยในจังหวัดอุบลราชธานี (ทุกท่าน) ส่วนคณะกรรมการพัฒนาควรจะให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วม กล่าวคือ ทุกภาคส่วนควรจะต้องเข้ามาช่วยกัน ใครมีอะไรก็มาช่วยกัน เน้นการมีส่วนร่วมในได้มากที่สุด ซึ่งจะตรงกับนโยบายของจังหวัดอุบลราชธานีเรื่อง นครแห่งการฮักแพง (ซึ่งขณะนี้ ประกาศจังหวัดอุบลราชธานี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกภูมิภาค ดิวิชั้น ๒ จังหวัดอุบลราชธานี โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแข่งขัน และ เป็นประธานสโมสร ทั้งนี้ คณะกรรมการที่ปรึกษา ประกอบด้วย ส.ว.(ทุกท่าน) ส.ส.(ทุกท่าน) ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๒๒ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี นายกเทศมนตรีทุกแห่ง นายกสมาคมชาวอุบลราชธานี)

๓. อาจจะต้องพิจารณาจัดหาเงินทุนในการพัฒนาเป็นกองทุน ซึ่งคิดว่าหากเราคนอุบลฯ ต่างช่วยกันคนละไม้คนละมือก็จะสามารถทำได้ ภายชื่อว่า “คนอุบลฯ คนละบาท” อันจะเหมือนกันเมื่อครั้งในอดีตที่คนอุบลฯ ได้ร่วมกันคนละบาทในการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำมูล

ฟุตบอล กับ ม.อุบลฯ นับว่าเป็นเรื่องควรจะพิจารณาให้ความสำคัญ เพราะ ม.อุบลฯ เป็นสมบัติของชาติเป็นสถาบันการศึกษาที่พัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชน ซึ่งการพัฒนาด้านกีฬาก็เป็นส่วนหนึ่งที่สถาบันอุดมศึกษาให้ความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะการที่จังหวัดอุบลราชธานีได้พิจารณาให้ใช้สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นสนามเหย้าสำหรับทีมฟุตบอลของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งผู้เขียนคิดว่ามีข้อดี ดังนี้
๑. เป็นการส่งเสริมกีฬาฟุตบอลให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทั้งนี้ในปัจจุบันนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นนักฟุตบอลของทีมฟุตบอลจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน ๔ คน อันจะทำให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้มีโอกาสพัฒนาเป็นนักกีฬาอาชีพได้ในอนาคต
๒. เป็นการส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในกีฬาฟุตบอล เนื่องจาก เมื่อทีมฟุตบอลประจำจังหวัดอุบลราชธานีใช้สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นสนามเหย้า ทำให้ทีมฟุตบอลของมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสฝึกซ้อมร่วมกันอันเป็นการเพิ่มศักยภาพของนักฟุตบอลของมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้ทีมฟุตบอลของมหาวิทยาลัยได้เป็นทีมสำรองมีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันโค้กคัพ อันเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของคณะกรรมการผู้จัดการแข่งขัน
๓. เป็นการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เนื่องจากในการแข่งขันแต่ละครั้งจะเป็นการแข่งขันกับจังหวัดต่างๆ ทำให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษาของจังหวัดต่างๆ ได้เห็นความสำคัญที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีสนับสนุนการกีฬาฟุตบอล
๔. เป็นการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ฝ่ายสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ เนื่องจากการแข่งขันในแต่ละครั้งมีนักข่าวโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์มาทำข่าวการแข่งขันกีฬาฟุตบอล ทำให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ทั่วประเทศได้รับทราบว่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีส่งเสริมการกีฬาฟุตบอล
๕. เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้เข้าชมการแข่งขันฟุตบอลโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย (โดยสามารถนั่งชมในที่นั่งฝั่งตรงข้ามคณะกรรมการจัดการแข่งขัน) ทำให้นักศึกษาได้ใช้เวลาที่เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้เรื่องของกีฬาฟุตบอล
๖. เป็นการดำเนินการ CSR (Corporate Social Responsibility) ด้านกีฬาเพื่อตอบสนองกลับคืนสู่ชุมชนท้องถิ่น และนักศึกษา อันจะทำให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็น USR (University Social Responsibility)

อย่างไรก็ดี เมื่อมีข้อดีตามข้างต้นก็ย่อมจะมีข้อเสียเป็นสิ่งที่คู่กันเสมอ คือ การใช้สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นสนามเหย้าอาจจะทำให้มหาวิทยาอุบลราชธานีต้องสนับสนุนด้านกระแสไฟฟ้าและน้ำประปา ซึ่งเกี่ยวข้องกับงบประมาณที่เป็นเม็ดเงิน

ครับ เป็นเรื่องของ “ฟุตบอล กับ จ.อุบลฯ และ ม.อุบลฯ” เมื่อมีการแข่งขันฟุตบอลของทีมจังหวัดอุบลราชธานี เราก็น่าจะพิจารณาการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกๆ ฝ่าย ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงคิดว่า การประชาสัมพันธ์อาจจะดำเนินการดังนี้
๑. ประชาสัมพันธ์ให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชน ในจังหวัดอุบลราชธานีได้เข้าร่วมชมฟุตบอล ณ สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยนั่งด้านกระถ่างคบเพลิง ทั้งนี้ประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อ Internet (Web, Blog, Facebook, Guideubon.com อื่นๆ) สถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง ๑๑ และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (เทศบาล ตำบล) ในจังหวัดอุบลราชธานี
๒. ประสานให้ชมรมเชียร์ (ชมรม หรือ สโมสร) ของโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยในจังหวัดอุบลราชธานี ได้มีโอกาสแสดงความสามารถด้านการเชียร์ ณ สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
๓. จัดงานการแข่งขันฟุตบอลกับนักกีฬาสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๓ ในวันเสาร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ โดยทีมดาราช่อง ๓ กับ ทีมกองเชียร์ และ VIP ของจังหวัดอุบลราชธานี เวลา ๑๖.๓๐ น. หลังจากนั้นชมการแสดง Concert ช่อง ๓ สัญจร เวลา ๑๘.๓๐ น. ณ สนามกีฬากลางมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
๔. จัดงานการแข่งขันฟุตบอลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๘๔ พรรษา มหาราชา ในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๔ โดยเวลา ๑๙.๐๐ น. ผู้คนชาวจังหวัดอุบลราชธานีร่วมกันจุดเทียนชัยพระถวายพระพร และหลังจากนั้นชมการแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตรระหว่างทีมจังหวัดอุบลราชธานีกับทีมเมืองทองยูไนเต็ดหรือทีมอื่นๆ

“รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย” หากสามารถปลูกฝังให้เยาวชนไทยของเราได้เข้าใจและนำไปปฏิบัติได้โดยผ่านกีฬาฟุตบอล รับรองว่าประเทศไทยของเราจะมีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับ UBON model

วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คนอุบลฯ ? เพื่ออุบลฯ ? (ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่คนอุบลฯ แต่ก็อยากจะทำเพื่ออุบลฯ)

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่าได้มีโอกาสเข้าไปดูฟุตบอลของชาวจังหวัดอุบลราชธานีที่มีชื่อทีมว่า Ubon Tiger Fc ณ สนามเหย้า (คือ สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งก็คือของคนอุบลฯ) ทำให้มีความรู้สึกและเกิดคำถามว่า

“จังหวัดอุบลราชธานีก็เป็นจังหวัดที่ใหญ่เป็นอันดับสองในภาคอีสานรองจากนครราชสีมา มีผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ตั้ง 11 ท่าน มีมหาวิทยาลัยของรัฐ 2 แห่ง คือ ม.อุบลฯ และ ม.ราชภัฏอุบลฯ และมีมหาวิทยาลัยเอกชนอีก 2 แห่ง และอุบลราชธานีก็มีอะไรอีกต่างๆ มากมายที่เป็นที่รู้จักของคนไทย แล้วทำไมทีมฟุตบอลของชาวจังหวัดอุบลราชธานีถึงได้มีเป็นแบบนี้ ความหมายคือ ทั้งคนดูก็มีจำนวนน้อย นักฟุตบอลก็มีทั้งนักเตะต่างชาติ (ซึ่งไม่รู้ว่าชาติไหนบ้าง) ทั้งที่อุบลราชธานีมีโรงเรียนกีฬาประจำจังหวัด แล้วทำไมเรื่องกีฬาฟุตบอลของอุบลราชธานีถึงเป็นอย่างนี้”

ข้อสงสัยข้อคำถามของผู้เขียนดูอาจจะรุนแรงไปบ้างนะครับ จังหวัดอื่นๆ ตอนนี้มีนักการเมืองมีเศรษฐีของจังหวัดนั้นๆ เข้ามามีบทบาทในการพัฒนากีฬาฟุตบอลของจังหวัดของพวกเขาเหล่านั้น ผู้เขียนคงจะไม่ไปก้าวล่วงว่าทำไมนักการเมืองเหล่านั้นถึงมีอิทธิพลความสามารถทำให้กีฬาของจังหวัดของเขาสามารถพัฒนาได้เป็นอย่างดีจนเป็นที่อิจฉาของคนจังหวัดอื่นๆ ตัวอย่างที่บ้านเกิดของผู้เขียน คือ จังหวัดร้อยเอ็ด ประธานสโมสรฟุตบอลของจังหวัดร้อยเอ็ด คือ ท่านเศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์ (อดีต ส.ส. ร้อยเอ็ด) ท่านเป็นรักกีฬาฟุตบอลเป็นอย่างมากเป็นนักกีฬาฟุตบอลของโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย (ซึ่งเราเป็นรุ่นน้องๆ มักจะเรียกพี่เศกสิทธิ์ เขาว่า พี่หนูเอ) เป็นนักกีฬาฟุตบอลของจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นนักกีฬาฟุตบอลของทีมกสิกรไทยในอดีต พูดง่ายๆ คือ เป็นผู้ที่รักกีฬาฟุตบอลแล้วได้มีโอกาสมาทำทีมฟุตบอล ก็เลยทำให้คนร้อยเอ็ดได้มีโอกาสร่วมกันในการสร้างสรรค์ความรักที่ดีๆ เกี่ยวกับกีฬาฟุตบอล

ขอวกกลับมาที่จังหวัดอุบลราชธานี คนอุบลฯ ไปไหนกันหมด คนอุบลฯ นั้นมีศักยภาพมากมายมหาศาลที่จะสามารถร่วมกันพัฒนากีฬาฟุตบอลของจังหวัดให้ดีขึ้นได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่ท้าทายเป็นอย่างมาก หากเราลองคิดใหม่ทบทวนใหม่ว่าหากเราจะเป็นนครแห่งการพัฒนา (กีฬาฟุตบอล) ตามนโยบายของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว เราควรจะทำอย่างไร ผู้เขียนใคร่ขออนุญาตเสนอแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการพัฒนา ดังนี้

๑. อาจจะต้องเปลี่ยนนโยบายแนวความคิดที่จะใช้นักเตะต่างชาติ ควรจะลดจำนวนนักเตะต่างชาติแล้วหันมาหานักศึกษาที่เป็นลูกหลานคนอุบลฯ หรือกำลังศึกษาที่จังหวัดอุบลฯ เพื่อจะได้ให้เขาเหล่านั้นที่รักกีฬาฟุตบอลได้มีโอกาสแสดงศักยภาพของตนเองออกมา ซึ่งอาจจะใช้เวลา แต่ผู้เขียนคิดว่าไม่เป็นไร เพราะอุบลราชธานีเป็นนครแห่งการพัฒนา เราจะต้องมีการพัฒนา

๒. อาจจะต้องให้ทุกๆ ฝ่ายในจังหวัดอุบลราชธานีได้มีส่วนร่วมในการพัฒนากีฬาฟุตอบอลโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอาจจะพิจารณาเป็นประธานสโมสร โดยมีที่ปรึกษาเป็นคณะที่ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดอุบลราชธานีทุกท่าน สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุบลราชธานี ท่านอธิการบดีของมหาวิทยาลัยในจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนคณะกรรมการพัฒนาก็ควรจะพิจารณาให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วม กล่าวง่ายๆ คือ ทุกภาคส่วนควรจะต้องเข้ามาช่วยกัน ใครมีอะไรก็มาช่วยกัน เน้นการมีส่วนร่วมในได้มากที่สุด ซึ่งจะตรงกับนโยบายของจังหวัดอุบลราชธานีเรื่อง นครแห่งการฮักแพง

๓. อาจจะต้องพิจารณาจัดหาเงินทุนในการพัฒนาเป็นกองทุน ซึ่งผู้เขียนคิดว่าหากเราคนอุบลฯ ต่างช่วยกันคนละไม้คนละมือก็จะสามารถทำได้ ภายชื่อว่า “คนอุบลฯ คนละบาท” อันจะเหมือนกันเมื่อครั้งในอดีตที่คนอุบลฯ ได้ร่วมกันคนละบาทในการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำมูล

ครับ ผู้เขียนยังเชื่อว่าคนอุบลฯ อีกไม่น้อยที่ต้องการจะเห็นความสำเร็จของทีมฟุตบอลประจำจังหวัดอุบลราชธานี ขอย้ำนะครับว่า ทีมฟุตบอลของคนอุบลฯ เพื่อคนอุบลฯ เราคนอุบลฯ ไม่ต้องไปน้อยใจว่าทีมฟุตบอลจังหวัดโน้นจังหวัดนี้เขาถึงมีการพัฒนาเป็นอย่างดีและก้าวไปไกล หลายจังหวัดประสบความสำเร็จด้วยก็เพราะอะไรนั้นผู้เขียนเชื่อว่าเราทราบกันดีว่าเพราะอะไร อย่างไรก็ดี หากคนอุบลฯ เริ่มต้นด้วยการมาร่วมกันสร้างร่วมกันเชียร์ร่วมกันคิดร่วมกันให้กำลังใจซึ่งกันและกันในการสร้างทีมฟุตบอล เราพยายามอย่าสร้างทีมฟุตบอลโดยการเอาเรื่องเงินมาเป็นตัวตั้ง ใครมีอะไรก็เอามาช่วยกันเท่าที่เราทำได้ เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วผู้เขียนเชื่อว่า คนอุบลฯ จะต้องมีทีมฟุตบอลเพื่อคนอุบลฯ จริงๆ

สุดท้ายและท้ายสุดจริงๆ ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะไม่ใช่คนอุบลฯ แต่ก็มามีอาชีพและใช้ชีวิตที่อุบลฯ ก็อยากจะมีส่วนช่วยร่วมในการพัฒนาอุบลราชธานี ตามนโยบายของท่านผู้ว่าราชการที่ว่า นครแห่งการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านกีฬาฟุตบอล หากมีอะไรที่ผู้เขียนที่พอช่วยได้ก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง และมีความสุขเป็นอย่างมากที่จะได้มีโอกาสในการมีส่วนร่วมดังกล่าว