วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

โครงการแสดงบทเพลงพระราชนิพนธ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มหาราชา


โครงการแสดงบทเพลงพระราชนิพนธ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มหาราชา
๑. หลักการและเหตุผล

ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ​ จะทรงพระเจริญพระชนมพรรษา ๘๔​ พรรษา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ทั้งนี้ ตามหนังสือจังหวัดอุบลราชานี ด่วนทีสุด ที่ อบ ๐๐๑๖.๒/ว ๔๒๐๐ ลงวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๓ กระทรวงมหาดไทย แจ้งว่าในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ จะทรงพระชนมพรรษา ๗​ รอบ (๘๔​ พรรษา)​ ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๔ นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่งที่ประชาชนทุกหมู่เล่าจะได้แสดงความจงรักภักดีถวายเป็นราชสักการะ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ที่ได้ทรงสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระปรีชาสามารถด้านดนตรี   พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามมินทราธิราช พระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่มีพระปรีชาสามารถทางดนตรีสูงมากพระองค์หนึ่ง ในฐานะนักดนตรีทรงเป็นนักดนตรี ที่มีพระปรีชาสามารถในทางบรรเลงเยี่ยงนักดนตรีอาชีพ ในฐานะดุริยกวีทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้ถึง ๔๖ เพลง ซึ่งเป็นที่นิยมของคนไทย และชาวต่างประเทศเป็นอย่างมาก บทเพลงของพระองค์ท่าน ถูกนำมาบรรเลงในรูปแบบต่างๆ มากมาย ทั้งที่บรรเลงในลีลาเพลงแจ๊ส คลาสสิค เพลงสมัยนิยม บทเพลงขับร้องและบทบรรเลง  โดยเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๐๗ สถาบันการดนตรีเมืองเวียนนา [The Institute of Music and Arts of the City of Vienna] ได้ถวายประกาศนียบัตร และสมาชิกกิตติมศักดิ์ให้กับพระองค์ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาดนตรี ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ มหาวิทยาลัยมหิดล ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาดนตรีแด่พระองค์ท่าน 

ดังนั้น ในโอกาสเดือนมหามงคลธันวามหาราช เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ​ ในวันที่ ๕​ ธันวาคม จะเวียนบรรจบครบรอบมาถึงอีกครั้งหนึ่ง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจึงจัดทำโครงการ "แสดงบทเพลงพระราชนิพนธ์เฉลิมพระเกียรติเทิดไทองค์ราชัน ๘๔ พรรษา มหาราชา" และ จัดแสดงวีดิทัศน์เฉลิมพระเกียรติ "เทิดไท้องค์ราชัน ผู้ทรงบากบั่นเพื่อปวงประชา" ณ​ สนามหญ้าด้านหน้าอาคารโรงเรียนเบญจะมะมหาราช (หลังเก่า อาคารเก่า ๑๐๐​ ปี)​ วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๘.๐๐ - ๒๐.๐๐ น. 

๒.​วัตถุประสงค์
๒.๑​ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว​ ฯ​ เนื่องในวันที่ ๕​ ธันวา มหาราชา
๒.๒​ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว​ ฯ​ ที่พระองค์ท่านทรงพระปรีชาสามารถด้านดนตรี
๒.​๓ เพื่อเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดอุบลราชธานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติความเป็นมาของอาคารโรงเรียนเบญจะมะมหาราช (อาคารเก่า ๑๐๐​ ปี)​

๓. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
๓.๑ ทำให้นักเรียน นักศึกษา และประชาขนจังหวัดอุบลราชธานีได้แสดงความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว​ ฯ​ เนื่องในวันที่ ๕​ ธันวา มหาราชา
๓.๒​ ทำให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีได้ตระหนักถึงพระปรีชาสามารถพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว​ ฯ​ ในด้านดนตรี 
๓.๓ ทำให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์อาคารโรงเรียนเบญจะมะมหาราช (หลังเก่า อาคารเก่า ๑๐๐​ ปี) และร่วมสร้างพัฒนาอาคารดังกล่าวให้เป็นศูนย์ความรู้ด้านวัฒนธรรและศิลปของชาวอุบลราชธานีอย่างยั่งยืน

​๔. สถานที่จัดงาน 
ด้านหน้าอาคารโรงเรียนเบญจะมะมหาราช (หลังเก่า อาคารเก่า ๑๐๐​ ปี)​ 

๕. วันเวลา 
วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๘.๐๐ - ๒๐.๐๐ น. 

๖. งบประมาณสนับสนุน
ขอรับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในโครงการบริการวิชาการและทำนุวัฒนธรรมศิลป

โดยมีรายละเอียด
๖.๑​ ค่าเช่าเครืองเสียง อุปกรณ์แสงและอุปกรณ์อื่นๆ   
๖.๒ ค่าตอบแทนการแสดงของคณาจารย์ นักศึกษา คณะศิลปศาสตร์  และโรงเรียนเบญจะมะมหาราช  
๖.๓ ค่าตอบแทนการทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายโสต และฝ่ายต่างๆ  โดยมีการจัดทำบันทึกการแสดงเพื่อเผยแพร่ 
๖.๔  ค่าอื่นๆ  เช่น ค่าจัดสถานที่ การประเมินโครงการ การสรุปเอกสารโครงการ การประชาสัมพันธ์​ จำนวน 
   
หมายเหตุ ถัวเฉลี่ยทุกรายการ

๗.​ผู้รับผิดชอบ 
ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี  ประธานที่ปรึกษา
อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  ที่ปรึกษา
ผู้อำนวยการโรงเรียนเบญจะมะมหาราช ที่ปรึกษา
คณบดีคณะศิลปศาสตร์ ที่ปรึกษา
รักษาราชการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและชุมชนสัมพันธ์   ประธานคณะทำงาน
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ                                                 รองประธานฯ
รองคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ที่ได้รับมอบหมาย คณะทำงาน
ผู้อำนวยการกองกลาง                                                             คณะทำงาน
หัวหน้าโครงการจัดตั้งกองบริหารกายภาพและสิ่งแวดล้อม  คณะทำงาน
หัวหน้าฝ่ายโสตฯ  สำนักวิทยบริการ                                         คณะทำงาน
หัวหน้างานสารบรรณ กองกลาง เลขานุการฯ
หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ กองกลาง ผู้ช่วยเลขานุการ

๘​. ตัวชี้วัดโครงการ
๘.๑​ มีนักเรียน นักศึกษา และประชาชน เข้าร่วมโครงการจำนวน ๕๘๔​ คนเป็นอย่างน้อย
๘.๒ มีการบันทึกการแสดงบทเพลงพระราชนิพนธ์​จำนวน ๑​ ชุด
๘.๓ ผู้เข้าร่วมโครงการมีความพึงใจการจัดโครงการในระดับ ดี

๙. หน่วยงานที่รับผิดชอบ
กองกลาง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ได้อะไรดีจาก สปป.ลาว (เวียงจันทร์)

เช้าวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เป็นวันหนึ่งที่สำคัญเช่นกันเพราะได้มาอยู่ที่ต่างประเทศ คือ นครเวียงจันทร์ เพื่อเข้าร่วมพิธีมอบปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้กับ ฯพณฯ พลโท พิจิต รองนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว


ตื่นจากที่นอนเวลาประมาณ ๖ นาฬิกา จิตสั่งให้ร่างกายจะต้องตื่นเพื่อออกไปสูดอากาศที่บริสุทธิ์ของนครเวียงจันทร์ โรงแรมที่พัก (โรงแรมลานช้าง) ติดกับแม่น้ำโขง ริมถนนมีต้นไม้ขนาดใหญ่มากเพื่อให้ออกซิเจนที่บริสุทธิ์สำหรับผู้ที่ต้องการในเวลาเช้า

ผู้เขียนตัดสินใจออกเดินจากโรงแรมไปตามถนนพร้อมด้วยโทรศัพท์แต่ใช้โทรไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับโทรศัพท์ที่ถือมาด้วยการในการเดินออกกำลังกาย คือ มันสามารถถ่ายภาพอาคารสถานที่สำคัญของนครเวียงจันทน์ได้ โดยขณะที่ออกเดินนั้น มีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าประทับใจ อย่างประการที่ได้กล่าวไปแล้ว คือ ข้างถนนมีต้นไม้ขนาดใหญ่ทั้งสองข้างทาง ทำให้เห็นความร่มรื่นของธรรมชาติที่ให้อากาศที่บริสุทธิ์ นครเวียงจันทน์กำลังถูกปรับปรุงพัฒนาให้มีความทันสมัย อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศต่างชื่นชอบ ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของความไม่วุ่นวายเหมือนกับนครหลวงของประเทศต่างๆ ที่พัฒนาแล้วหรือที่กำลังพัฒนา ที่ล้วนมีแต่ความวุ่นวายของรถลาจราจรที่ยุ่งเหยิง ทำให้เกิดความเครียดในการเดินทาง

นครเวียงจันทร์มีมรดกที่ล้ำค่าในเรื่องของวัฒนธรรมศิลปอันเก่าแก่ที่ชาวเวียงจันทร์ได้พยายามที่จะอนุรักษ์ไว้ โดยจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ผสมผสานกันระหว่างอาคารบ้านเรือนวัฒนธรรมเก่าๆ กับสถานที่กำลังถูกพัฒนาตามกระแสโลกาภิวัฒน์ที่เปลี่ยนไปของสังคมโลก ซึ่งแน่นอนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมอาจจะทำให้สิ่งเก่าๆ นั้นถูกปรับเปลี่ยนไปถูกลบเลือนไปบ้าง อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่นครเวียงจันทร์มีอยู่เป็นอย่างดียิ่ง คือ ธรรมชาติของต้นไม้ และธรรมชาติของธรรรมะ วัดวาอารามที่อยู่ในกลางเมืองหลวง อันจะทำให้กลายเป็นศูนย์กลางยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชาติให้ยึดในเรื่องของ ๒ ธรรม คือ ธรรมชาติ และ ธรรมะ


นอกจากนั้น สิ่งหนึ่งที่เป็นสิ่งอันประทับใจกับสำคัญผู้มาเยือนนครเวียงจันทร์ คือ การแต่งกายของสุภาพสตรีที่นี้ (นครเวียงจันทร์) ท่านได้แต่งกายตามขนบประเพณีอันดีของคนลาวได้เป็นอย่างดียิ่ง สวยงาม เป็นเอกลักษณ์ ประทับใจ แม้กระทั่งสุภาพสตรี (ที่เมืองไทยเรียกว่า สาวเชียร์เครื่องดื่มเบียร์) ที่นครเวียงจันทร์แต่งกายได้สุภาพ สมกับเป็นสุภาพสตรีจริง ผู้เขียนขอคารวะนับถือด้วยความจริงใจยิ่ง สำหรับการอนุรักษ์การแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของชาติ

ผู้เขียนคิดฝันว่า ในหน่วยงานที่ผู้เขียนทำงานอยู่ขณะนี้ จะเห็นท่านสุภาพสตรีที่พร้อมเพรียงกันแต่งกายในลักษณะที่อนุรักษ์วัฒนธรรมศิลปของไทยเราให้วันทำงานต่างๆ ในลักษณะที่บ่งบอกว่า นี้คือ การแต่งกายของสุภาพสตรีของไทยในหน่วยงานหนึ่งๆ อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นความฝันเท่านั้นเอง มันไม่เป็นความจริงอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าในจังหวัดหนึ่งท่านหัวหน้าส่วนราชการสูงสุดจะมีหนังสือทางราชการได้ขอร้องความร่วมมือในการแต่งกายที่อนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีของไทย แต่การทำอย่างนั้นก็ไม่รู้จะได้ผลหรือไม่ เพราะการแต่งกายจะต้องออกมาจากจิตใจของผู้แต่งกายโดยธรรมชาติ จะแต่งกายเสมือนถูกบังคับ คงจะทำให้ไม่มีความสุขอย่างแน่แท้ที่เดียว

ก็ได้แต่หวังว่า ณ เวลาหนึ่ง ที่นครเวียงจันทร์จะช่วยจุดประกาย นำสิ่งที่ดีๆ ของนครเวียงจันทร์ มาใช้กับบ้านเราบ้าง อย่างน้อยที่สุด ๒ ธ นะครับ ธรรมชาติ และ ธรรมะมนูญ ศรีวิรัตน์