วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559

ความเป็นมาของ "หอประวัติศาสตร์อุบลราชธานีศรีวะนาไล"

ความเป็นมา
"หอประวัติศาสตร์อุบลราชธานีศรีวะนาไล"
โดย นายสุรพล สายพันธ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี 



 ความเป็นมาของ "หอประวัติศาสตร์อุบลราชธานีศรีวะนาไล" (อาคารโรงเรียนเบ็ญะจะมะมหาราชเดิม) บังเอิญผมไม่ใช่นักประวัติศาสตร์เพียงแต่เป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์จริงเพราะฉะนั้นเรื่องราวการก่อสร้างอาคารนี้รูปแบบสีวัสดุต่างๆ ผมจะข้ามไปเพราะมีหลายท่านเคยเขียนลงตามที่ต่างๆ ผมเคยศึกษาที่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชซึ่งขณะนั้นใช้อาคารไม้หลังนี้เป็นอาคารเรียนของทุกห้องทุกชั้นบนอาคารไม้นี้มีห้องน้ำเฉพาะของครูอาจารย์ อาคารฝึกงาน อาคารเกษตร ห้องน้ำห้องส้วมนักเรียน แยกสร้างไปต่างหาก อาคารฝึกงานเป็นอาคารชั้นเดียว (ข้างสำนักงานธนารักษ์ใหม่ปัจจุบัน) อาคารเกษตรอยู่ด้านหลังพร้อมอาคารห้องน้ำ(บริเวณอาคารสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาเขต 1 ปัจจุบัน)  ด้านหน้ามีเสาธงใหญ่ (ตามรูปแบบลักษณะเห็นในปัจจุบันเสาธงที่ทำขึ้นใหม่ตามรูปแบบและขนาดแบบเดิม)ผมเรียนตั้งแต่ม.ศ. 1 ถึงม.ศ.5 โดยม.ศ. 1- ม.ศ. 3 เรียนอยู่ห้องชั้นล่างด้านหลัง(ฝั่งที่ว่าการอำเภอเมืองติดแทงค์น้ำคอนกรีตที่เห็นอยู่ปัจจุบัน (และเคยใช้น้ำดื่มจากแทงค์นี้)  ส่วนม.ศ.4 -ม.ศ. 5 เรียนชั้นบนห้องมุขกลางที่มีป้ายชื่อโรงเรียนในปัจจุบัน (ป้ายนี้ก็เป็นป้ายดั้งเดิม)  สนามด้านหน้าเป็นที่เตะฟุตบอลกันสมัยนั้นไม่มีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(เดิมในวันปิยมหาราชใช้ทุ่งศรีเมืองเป็นที่ทำพิธีถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทถาวรแล้วสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ใช้พระบรมรูปขนาดใหญ่ที่สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่จัดทำขึ้นและมอบให้จังหวัดอุบลราชธานีเพื่อใช้ประกอบพิธีโดยมีการทำแท่นชั่วคราวเพื่อประดิษฐานชั่วคราว
   ต่อมาภายหลังศาลากลางจังหวัดหลังใหม่(หลังที่ถูกเผา)และมีพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นการถาวรจึงได้ย้ายมาทำพิธีตรงหน้าศาลากลางจังหวัดใหม่พระบรมรูปที่ใช้ปรกอบพิธีเดิมก็ประดิษฐานที่ห้องทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดต่อมาย้ายออกมาประดิษฐานที่ห้องประชุมเล็กภายหลังนายอำเภอเมืองอุบลราชธานีได้ขอมาจัดตั้งประดิษฐานหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองอุบลราชธานีในปัจจุบัน (ซึ่งยังมีคำจารึกอยู่)  ส่วนศาลากลางจังหวัดหลังเดิมเมื่อสร้างศาลากลางจังหวัดหลังใหม่เสร็จแล้วได้ยกให้เป็นที่ว่าการอำเภอเมืองอุบลราชธานี  (ผมมีโอกาสมาฝึกงานปลัดอำเภอตอนปิดเทอมปี 3 มาฝึกงาน 1 เดือนกับท่านมนไท ประมูลจักโก อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีขณะนั้นท่านเป็นปลัดอำเภอโทฝ่ายทะเบียน) 
เรื่องราวคงจะยาวแต่ขออนุญาตตัดมาช่วงที่ผมมีโอกาสกลับมาทำงานที่บ้านเกิดโดยท่านอดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราขธานีท่านสุนัย ณ อุบล ให้ความเมตตาย้ายผมจากจังหวัดมหาสารคามมาเป็นนายอำเภอหัวตะพาน(ขณะนั้นเป็นเขตปกครองของจังหวัดอุบลราชธานียังไม่แยกเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ)  อาคารไม้โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชใช้เป็นที่ทำการสัสดีจังหวัดห้องประชุมอำเภอเมืองอุบลราขธานี ศูนย์สื่อสารภูมิภาคกรมการปกครองและที่ทำการกอ.รมน. จังหวัดอุบลราชธานี และเป็นที่เก็บวัสดุคุรุภัณฑ์ที่ไม่ใช้แล้วอาคารก็ทรุดโทรมตามสภาพช่วงเป็นนายอำเภอ 14 ปี 5 อำเภอที่จังหวัดอุบลราชธานีได้รับทราบจากผู้หลักผู้ใหญ่ศิษย์เก่าโรงเรียนว่าไม่อยากให้รื้อเสียดายอยากให้อนุรักษ์ไว้จนกระทั่งผมได้ย้ายออกจากจังหวัดอุบลราชธานีไปเผชิญโลกกว้างที่ชัยภูมิ พังงา และตราดรวม 7 ปี ได้ย้ายกลับมาเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเห็นสภาพอาคารที่ทรุดโทรมและทราบอย่างไม่เป็นทางการว่าเคยเสนอเรื่องขอบูรณะแต่ไม่ผ่านเลยปรึกษากับผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือหลายท่านว่าจะเสนอเรื่องบูรณะเข้าไปใหม่พร้อมปรับปรุงข้อมูลและประมาณการเฉพาะส่วนที่จำเป็นก่อนหลังจากเสนอไปพร้อมประสานงานกับหลายๆ ฝ่ายแล้วต่อมาทราบว่ากรมศิลปากรอนุมัติและดำเนินการประกวดราคาพร้อมควบคุมการบูรณะพร้อมกับขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเพราะความเก่าแก่และรูปทรงสถาปัตยกรรมที่ไม่เหมือนใคร
หลังจากบูรณะเสร็จพร้อมกับเกิดเหตุการณ์จลาจลเป็นโชคดีที่อาคารนี้ไม่ถูกเผาไปด้วย (ขณะนั้นยังไม่มีการตรวจรับงานบูรณะ ขออนุญาตไม่พูดเรื่องปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติ)   หลังจากศาลากลางจังหวัดที่ถูกไฟไหม้เผาผลาญและทุบทิ้งหลายคนคิดตรงกันคือที่นี่จะเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองที่จะบอกกล่าวเรื่องราวของอุบลราชธานี ท่านศาสตราจารย์ ดร.ประกอบ วิโรจน์กูฏ ขณะนั้นเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (และเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช) เป็นผู้ประสานงานต่อ ผมได้จัดพิธีลงนามดูแลอาคารร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆและจัดนิทรรศการ 1 ครั้ง กรมศิลปากรมาจัดแสดงโขนชุดใหญ่ผมเองก็ให้ย้ายเวทีกลางในงานปีใหม่จังหวัดจากที่เคยอยู่ริมรั้วมาตั้งด้านหน้าอาคารนี้แทนและบอกว่าไม่ต้องมีฉากหลังใช้อาคารนี้เป็นฉากหลังได้เลยจนภาพงานปีใหม่อุบลราชธานีไปปรากฏในสื่อต่างๆและได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ยอดเยี่ยม รวมทั้งขอความร่วมมือเทศบาลนครอุบลราชธานีจัดไฟส่องสว่างแบบโบราณสถานขอให้เทศบาลนครช่วยทำเสาธงตามแบบรูปเดิมณสถานที่เดิม(เป็นเสาธงเดียวในประเทศไทยที่มีลักษณะแบบนี้)   รวมทั้งได้จัดนิทรรศการพร้อมการแสดงแสงสีเสียงอีกครั้งหนึ่งโดยความตั้งใจจะให้เป็นนิทรรศการทั้งแบบถาวรและแบบหมุนเวียนซึ่งงานวันนั้นได้เชิญอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี อดีตครูอาจารย์ และศิษย์เก่าโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชมาร่วมเป็นเกียรติในงานพร้อมกับนักเรียนรุ่นปัจจุบันและหลังจากนั้นก็ได้ขอให้สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอุบลราชธานีช่วยทำป้ายอาคารหลังนี้ว่า "หอประวัติศาสตร์อุบลราชธานีศรีวะนาไลย" (แทนคำว่า"พิพิธภัณฑ์เมือง" เพราะคิดว่าคำน่าจะเหมาะสมกว่าความจริงก็มีความหมายเหมือนกันและ "อุบลราชธานีศรีวะนาไลย" ก็ตรงกับคำจารึกในพระบรมราชโองการ)  มีการปรับปรุงระบบไฟที่เสาธงและพระบรมราชานุสาวรีย์ใหม่ รวมทั้งเคยกราบทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯสยามบรมราชกุมารี ถึงความเป็นมาในการบูรณะพร้อมภาพถ่ายอาคารหลังนี้และขอกราบทูลเชิญเปิดอาคารนี้เมื่อจัดภายในเสร็จเรียบร้อยเมื่อคราวที่พระองค์เสด็จพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีพร้อมกับทอดพระเนตรนิทรรศการต่างๆ
มาถึงวันนี้พ้นหน้าที่ราชการแล้วปี 2557 ได้มีแนวความคิดให้นักเรียนโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชมาถวายบังคมและถวายตัวหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5  ปี 2558 มีนักเรียนโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชและโรงเรียนเตรียมอดมศึกษาพัฒนาการอุบลราชธานีร่วมกันทำพิธีถวายบังคมและถวายตัวเล่าให้ฟังว่าคิดและทำอะไรไปแล้วปี 2558 ที่ผ่านมาถึงเป็นวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯสยามบรมราชกุมารีพระชนมายุ 60 พรรษา หากถือเป็นมิ่งมงคลนำโครงการ "หอประวัติศาสตร์อุบลราชธานีศรีวนาไล" เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติยศพร้อมกับกราบทูลทรงเปิดอาคารนี้อย่างเป็นทางการน่าจะเหมาะสมสิ่งเหล่านี้ฝากผู้ที่เกี่ยวข้องจะสานต่องานครับ




รับชมรูปภาพที่เกี่ยวข้องกับ 
"หอประวัติศาสตร์อุบลราชธานีศรีวะนาไล" ได้ที่ https://www.facebook.com/ubonratchathani.historymuseum/photos_albums

หรือ QR code