ผมขอขอบคุณประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่ให้เกียรติในการเขียนบทความ “เกี่ยวกับกว่าจะมาเป็นมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีการพัฒนาเติบโตด้านการศึกษา ด้านอำนวยความสะดวก ด้านอาคารสถานที่” เพื่อเผยแพร่ในการประชุมสัมมนากลุ่มสภานิสิต-นักศึกษาสัมพันธ์ จำนวน ๓๐ สถาบัน ครั้งที่ ๕๒ ระหว่างวันที่ ๒๘ สิงหาคม-๑ กันยายน ๒๕๕๔ ซึ่งผมก็คิดเหมือนกันว่าหากจะเขียนตามที่ประธานสภานักศึกษาได้กรุณาขอความอนุเคราะห์มานั้นอาจจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนั้น จึงขออนุญาตเปลี่ยนหัวข้อใหม่ คือ “ความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในมุมมองของข้าพเจ้า” โดยการเขียนครั้งนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลนะครับ
ครับ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ ขณะที่ผมกำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีปีสุดท้ายของภาคเรียนที่หนึ่งนั้นได้เห็นป้ายวิทยาลัยอุบลราชธานี สังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ ชั้น ๒ อาคารเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมก็ไม่ได้คิดอะไรมากและคิดว่าไม่เห็นจะเกี่ยวพันหรือเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร ก็ผ่านไปจนถึง พ.ศ.๒๕๓๓ ประมาณเดือนมิถุนายน ขณะนั้นเพื่อนๆ ที่กำลังศึกษาปริญญาโท (สาขาสถิติ ซึ่งผมเลือกเน้นไปด้าน MIS) ต่างสมัครทุนโครงการพัฒนาอาจารย์ UDC (University Development Commission) ไปอยู่มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ดังๆ เช่น จุฬาฯ นิด้า เชียงใหม่ ขอนแก่น พระนครเหนือ มศว. เป็นต้น แต่ผมเลือกสอบรับทุนของวิทยาลัยอุบลราชธานี (สังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น) ซึ่งตอนนั้นคิดเพียงแต่ว่าโอกาสน่าจะได้ทุนเพราะเนื่องจากไม่น่าจะมีใครสนใจสมัคร และก็เป็นอย่างที่ผมคาดคิด ปรากฏว่ามีผมสมัครเพียงคนเดียว โดยตอนนั้นก็ยังไม่รู้เลยว่า วิทยาลัยอุบลราชธานีอยู่ที่ตั้งตรงไหนสถานแห่งหนใด แล้วนั้นที่สุดผมก็ได้รับการคัดเลือก (โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์อุทิศ อินทรประสิทธิ์ เป็นผู้สอบสัมภาษณ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรรณวไล อธิวาสน์พงศ์ เป็นผู้พาไปลงนามทำสัญญาการรับทุน ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
ผมมารับราชการครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๓๕ (ที่เลือกรายงานตัววันดังกล่าวเพราะเป็นวันก่อนวันอาสาฬหบูชา ๑ วัน และวันต่อไปจะเป็นวันเข้าพรรษา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าวันเข้าพรรษา ที่จังหวัดอุบลราชธานี มีประเพณีที่สำคัญและยิ่งใหญ่) เดินทางมาถึงอาคารอเนกประสงค์ (ปัจจุบันคือที่ตั้งคณะบริหารศาสตร์) ถามตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าที่นี้เป็นมหาวิทยาลัยหรือเปล่า ถนนทางเข้าเป็นถนนลูกรังสีแดงเดือนกรกฎาคมหน้าฝนคงไม่ต้องบรรยายเลยครับ ทั้งมหาวิทยาลัยมีอาคารไม่กี่หลัง แต่ก็ยังดีที่มีที่พักให้เป็นแฟลตบุคลากร ๑ หลัง ๓ ชั้น ผมได้ความกรุณาถูกจัดสรรให้พักห้อง ๓๑๓ ถนนทางเข้าจากอาคารเอนกประสงค์ไปถึงแฟลตคงไม่ต้องบรรยายอีกนะครับ เพราะสภาพเหมือนกันเลย ไม่น่าจะเชื่อว่านี้คือที่เขาเรียกว่า “มหาวิทยาลัย” ณ อาคารเอนกประสงค์ที่กล่าวไว้ก่อนหน้าที่นั้น เป็นที่ตั้งของสำนักงานอธิการบดี สำนักงานคณะวิทยาศาสตร์ สำนักงานคณะเกษตรศาสตร์ ห้องสมุด ห้องเรียนรวม โรงอาหาร โครงการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ ห้องพยาบาล สรุปง่ายๆ คือ มีทุกอย่างที่อาคารแห่งนี้ นอกจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีอาคารเอนกประสงค์ในขณะนั้นแล้ว ยังมีอาคารเรียนรวมหลังที่ ๑ (ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันภาษาในขณะนั้น) อาคารปฏิบัติการด้านวิศวกรรมศาสตร์หลังที่ ๑ ๒ และ ๓ อาคารปฏิบัติการด้านเกษตรศาสตร์ อาคารหอพักนักศึกษา เป็นต้น อย่างไรก็ดี ก็ถือได้ว่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในขณะนั้นเรื่องของอาคารสถานที่กำลังถูกดำเนินการก่อสร้างเพื่อรองรับนักศึกษาในอนาคต
มาถึงตอนนี้ ผู้อ่านอาจจะยังไม่เห็นภาพความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อเริ่มทำงานคอมพิวเตอร์ก็ยังเป็นระบบ DOS ผมเองได้รับการมอบหมายให้จัดอบรมคอมพิวเตอร์ให้กับบุคลากรของจังหวัดอุบลราชธานี มีการจัดอบรมโปรแกรม DOS โปรแกรม Lotus 1-2-3 (ปัจจุบันเอกสารของผม โปรแกรม Lotus 1-2-3 อยู่ที่ห้องสมุด สำนักวิทยบริการ) ความก้าวหน้าเริ่มขึ้นแล้วครับ โปรแกรม Window เริ่มเข้ามาใช้งานที่มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๓๖ และผมก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเจริญก้าวหน้าด้านคอมพิวเตอร์ให้กับมหาวิทยาลัยด้วยโดยสอนวิชาภาษา Pascal (ปัจจุบันเอกสารของผม การเขียนภาษาคอมพิวเตอร์ปาสคาล อยู่ที่ห้องสมุด สำนักวิทยบริการ)
มาถึงตอนนี้ ผู้อ่านอาจจะยังไม่เห็นภาพความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อเริ่มทำงานคอมพิวเตอร์ก็ยังเป็นระบบ DOS ผมเองได้รับการมอบหมายให้จัดอบรมคอมพิวเตอร์ให้กับบุคลากรของจังหวัดอุบลราชธานี มีการจัดอบรมโปรแกรม DOS โปรแกรม Lotus 1-2-3 (ปัจจุบันเอกสารของผม โปรแกรม Lotus 1-2-3 อยู่ที่ห้องสมุด สำนักวิทยบริการ) ความก้าวหน้าเริ่มขึ้นแล้วครับ โปรแกรม Window เริ่มเข้ามาใช้งานที่มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๓๖ และผมก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเจริญก้าวหน้าด้านคอมพิวเตอร์ให้กับมหาวิทยาลัยด้วยโดยสอนวิชาภาษา Pascal (ปัจจุบันเอกสารของผม การเขียนภาษาคอมพิวเตอร์ปาสคาล อยู่ที่ห้องสมุด สำนักวิทยบริการ)
และต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๗ มหาวิทยาลัยเริ่มมีการก่อสร้างอาคารต่างๆ เพิ่มเติมขึ้น เช่น อาคารสำนักงานอธิการบดี อาคารคณะวิทยาศาสตร์ (ชีวภาพ เคมี ฟิสิกส์) อาคารสำนักวิทยบริการ โรงอาหารกลาง อาคารเรียนรวมหลังที่ ๒ และ ๓ ตามลำดับ โดยในปีนี้เองสำนักงานอธิการบดีหลังใหม่ขณะนั้นได้แล้วเสร็จ ทำให้มีการมองถึงอนาคตในวันข้างหน้า มหาวิทยาลัยจึงได้มีโครงการจัดตั้งสำนักคอมพิวเตอร์ โดยขณะนั้นผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการและเลขานุการคณะทำงาน ซึ่งมีท่าน รศ.ดร.เครือวัลย์ โสภาสรรค์ (รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ) เป็นประธาน และผมก็โชคดีที่มหาวิทยาลัยได้ให้โอกาสไปศึกษาดูงานด้านคอมพิวเตอร์ ณ University of Arkon สหรัฐอเมริกา นับได้ว่าความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีด้านคอมพิวเตอร์ได้เริ่มขึ้นและมีการเริ่มใช้งานการเชื่อมต่อ Internet ผ่านระบบโทรศัพท์ที่เรียกว่า e-mail ขึ้นครั้งแรกแต่ผ่านระบบ Unix เชื่อมต่อไปยังศูนย์คอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปีนี้เองมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้เริ่มมีบุคลากรด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาระบบถนนหนทางเชื่อมต่ออาคารต่างๆ ในมหาวิทยาลัยให้ได้มาตรฐานเพื่อบริการสำหรับนักศึกษาและประชาชน
ปี พ.ศ.๒๕๓๘ มหาวิทยาลัยได้เริ่มมีการพัฒนาด้านกายภาพมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ (ซึ่งเปลี่ยนสถานะจากสถาบันภาษา) คณะเภสัชศาสตร์ นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยยังพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งอาจารย์ไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ และมหาวิทยาลัยจัดสร้างอาคารสำนักวิทยบริการ (ซึ่งก็คือ ห้องสมุด) เพื่อให้บริการด้านหนังสือ วารสารและบทความ ความรู้ต่างๆ สำหรับนักเรียน นักศึกษา อาจารย์และประชาชนได้ใช้งาน อีกทั้ง มหาวิทยาลัยได้มีการวางแผนและก่อสร้างอาคารที่พักนักศึกษาเพิ่มเติม รวมทั้งอาคารที่พักสำหรับบุคลากรหลังที่ ๒, ๓ และ ๔ ตามลำดับ รวมทั้งการสร้างส่วนพื้นที่บริการในด้านการออกกำลังกาย นั้นคือ อาคารกีฬาเอนกประสงค์ อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เดือนสิงหาคม ผมเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ แต่ก็ได้เฝ้ามองมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีอยากจะเห็นความเจริญก้าวหน้าให้ทัดเทียมมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย และเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๔๔ ผมได้กลับมายังมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีอีกครั้ง ที่เห็นความเจริญก้าวหน้าไปอย่างมาก จากเดิมที่มีคณะประกอบด้วย คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ (ซึ่งมีอาคารเป็นของตัวเองเนื่องจากได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล) มหาวิทยาลัยมีคณะในกำกับ (ที่จะต้องใช้เงินรายได้ของมหาวิทยาลัย) คือ คณะบริหารศาสตร์ โดยมหาวิทยาลัยให้ใช้อาคารอเนกประสงค์ (อาคารหลังแรกที่ผมทำงาน) ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจะต้องมีคณะในกำกับ ก็เพราะในวิกฤตต้มยำกุ้งที่เกี่ยวข้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยเรานั้นรัฐบาลมีนโยบายไม่ให้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ที่เป็นภาระด้านอัตรากำลังคนและเงินงบประมาณ แต่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจำเป็นจะต้องพัฒนาด้านการศึกษาให้ครบถ้วนสมบูรณ์ในทุกสาขาวิชาอันเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะคณะบริหาศาสตร์มีสาขาวิชาที่น่าสนใจ เช่น การบัญชี ธุรกิจบริการ เป็นต้น
และในปี พ.ศ.๒๕๔๕ ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมพัฒนามหาวิทยาลัยในตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวางแผน ซึ่งมีหน้าที่จัดทำงบประมาณวางแผนพัฒนาด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัย (แต่ไม่ใช่วางแผนคนเดียวนะครับ) เพราะเรื่องต่างๆ จะต้องนำเข้าเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (ซึ่งประกอบด้วย อธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสำนัก) และหลังจากนั้นก็จะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย (ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก) เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งนับตั้งแต่มี พ.ศ.๒๕๔๕ เป็นต้นมานั้น มหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาด้านอาคารสถานที่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Food Centre สระว่ายน้ำ อาคารแฟลตที่พักบุคลากรหลังที่ ๕ โรงพละเอนกประสงค์ สนามกีฬากลาง อาคารสำนักงานอธิการบดีหลังใหม่ อาคารสำนักวิทยบริการ (ห้องสมุดหลังใหม่) อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ (EN6) อาคารวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ อาคารคณะเกษตรศาสตร์ โรงละครคณะศิลปศาสตร์ ในส่วนของการพัฒนาด้านสาขาวิชานั้น มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งคณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ และที่สำคัญ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้จัดตั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข เพื่อผลิตบุคลากรด้านสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สาขาแพทยศาสตร์ และ สาธารณสุขศาสตร์ ซึ่งสำหรับสาขาแพทยศาสตร์นั้นเป็นมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องการผลิตแพทย์เพิ่มมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจึงได้รับงบประมาณสนับสนุนการผลิต ทั้งนี้ได้มีก่อสร้างอาคารวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข อาคารส่งเสริมและวิจัยทางการแพทย์ ต่อมามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้จัดตั้งคณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าการจัดตั้งหน่วยงานใหม่นั้นไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ดังนั้น สำหรับคณะนิติศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยได้จัดสรรอาคารเรียน ๒ และ ๓ ให้เป็นสถานที่สำหรับสองคณะดังกล่าวตามลำดับ ดังนั้น จะเห็นว่าในตอนนี้ มหาวิทยาลัยมีหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ประกอบด้วย คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข คณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ อีกทั้ง ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนนอกที่ตั้ง ณ จังหวัดมุกดาหาร ภายใต้ชื่อว่า “วิทยาเขตมุกดาหาร” ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ พระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ “อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มหาราชา”ณ ภูผาเจีย วิทยาเขตมุกดาหาร และเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคาร “เทพรัตน์คุรุปภา” วิทยาเขตมุกดาหาร เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๒
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ มหาวิทยาลัยได้เปิดใช้อาคารเรียนรวมหลังที่ ๕ เพื่อรองรับกับจำนวนนักศึกษาและการจัดการเรียนการสอนของคณะต่างๆ และเช่นเดียวกันในปี พ.ศ.๒๕๕๓ มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ ซึ่งการรับนักศึกษาของคณะพยาบาลศาสตร์จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานของสภาการพยาบาลกำหนด อันจะทำให้คณะน้องใหม่สุดของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้รับรองพร้อมที่จะผลิตบัณฑิตพยาบาลออกไปรับใช้สังคมอย่างมีคุณภาพต่อไป สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๕๔ มหาวิทยาลัยได้เปิดใช้อาคารปฏิบัติการด้านโรงแรมและการท่องเที่ยว (ได้รับพระราชทานนามว่า “อาคารเทพรัตนสิริปภา”ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ พระราชดำเนินทรงเปิดอาคารดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๓) โดยในปี พ.ศ.๒๕๕๕ คาดว่ามหาวิทยาลัยจะเปิดใช้งานอาคารกิจกรรมบริการเพื่อสุขภาพ (PCU : Primary Care Unit) อาคารศูนย์เครื่องมือกลางและปฏิบัติการงานด้านการวิจัย และอาคารหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ (ซึ่งเป็นอาคารเอนกประสงค์ขนาดใหญ่เพื่อใช้รองรับการจัดประชุมสัมมนาขนาด ๕,๐๐๐ ที่นั่ง และจะใช้สำหรับพิธีพระราชทานปริญญาบัตร) และอีกไม่นานคาดว่าอีกประมาณ ๒ ปี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจะเปิดใช้อาคารวิจัยด้านสุขภาพ (โรงพยาบาล) ๑๒๐ เตียง อันจะเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติงานสำหรับนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาเภสัชศาสตร์ นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ นักศึกษาสาธารณสุขศาสตร์
จะเห็นว่าความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีนั้น มีคณะวิชาต่างๆ ประกอบด้วย คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะบริหารศาสตร์ คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข คณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และวิทยาเขตมุกดาหาร (เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ.๒๕๕๘) พร้อมทั้งมีหน่วยงานสนับสนุนด้านวิชาการ คือ สำนักวิทยบริการ (ห้องสมุด) สำนักคอมพิวเตอร์และเครือข่าย โดยมีสำนักงานอธิการบดีเป็นหน่วยงานกลางประสานงานหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าเพื่อความเจริญก้าวหน้ารับใช้สังคมต่อไปอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีนั้นได้ผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคมแล้วเกือบ ๑๐,๐๐๐ คน โดยมีนักศึกษาทุกระดับในปัจจุบัน (ปริญญาตรี โท และเอก) ประมาณ ๑๕,๐๐๐ คน พร้อมบุคลากรที่มีคุณภาพอีกประมาณ ๑,๕๐๐ คน นับได้ว่าตลอดระยะเวลายี่สิบกว่าปีที่ผ่านมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีก้าวจากจุดเริ่มต้นถึงปัจจุบันนั้น ได้สร้างสรรค์ผลงานด้านต่างๆ ให้กับประเทศอย่างมากมาย ถึงแม้ว่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีอาจจะไม่สามารถเทียบเท่ามหาวิทยาลัยใหญ่ๆ เก่าๆ แต่สิ่งที่เราภาคภูมิใจ คือ เราทำให้ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันได้เห็นคุณค่าของการเรียนหนังสือ ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภายใต้ข้อจำกัดด้านต่างๆ
ดังนั้น ความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในมุมมองของข้าพเจ้าสามารถสรุปในเชิงของปริมาณด้านวิชาการได้โดยการจัดตั้งคณะหลักสูตรในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ และสังคมศาสตร์ จะเห็นว่ามีคณะวิชาครบถ้วนในความต้องการของประเทศชาติ อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีคงจะต้องเพิ่มความก้าวหน้าในเชิงคุณภาพให้มากยิ่งขึ้นไปด้วย โดยคุณภาพที่ว่า คือ คุณภาพของบัณฑิตที่ออกไปรับใช้สังคม คุณภาพของงานวิจัยเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของสังคมและประเทศชาติ อีกทั้งประการสำคัญคือ มหาวิทยาลัยจะต้องบริการด้านวิชาการในแขนงต่างๆ ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัฒน์ รวมทั้งให้ความสำคัญของการที่จะรักษาวัฒนธรรมศิลปอันดีงานของท้องถิ่นเพื่อคงอยู่สู่ลูกหลานในภายภาคหน้า
สุดท้าย ผมอยากจะฝากว่าในความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยนั้น จะต้องช่วยกันทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา ศิษย์เก่า บุคลากร (อาจารย์ เจ้าหน้าที่ คนงาน) ผู้ปกครอง หน่วยงานราชการต่างๆ โดยผมขอฝากว่าหากจะสร้างความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนอาจจะต้องมีการพิจารณาร่วมกันในการสร้างตัวแบบเพื่อหล่อหลอมกำลังกายกำลังใจในการก้าวเดินไปพร้อมมัน ด้วย Ubon Model ดังนี้
U = Unity คือ ความเอกภาพ หมายถึง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมีความสมัครสมานสามัคคีกันทุกระดับทุกหมู่เหล่า ทุกคณะทุกสำนัก
B = Beauty คือ ความสวยงาม หมายถึง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีความงามในเรื่องของน้ำใจ และการปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับหน้าที่ของแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา บุคลากรและอาจารย์
O = Optimum คือ ภาวะที่ดีที่สุด หมายถึง การกระทำใดๆ ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีความดีเป็นที่ตั้งให้นักศึกษา บุคลากรและอาจารย์ได้พร้อมกันปฏิบัติตามหลักของสิ่งที่ดีที่สุดตามธรรมชาติและธรรมะ
N = Network คือ เครือข่าย หมายถึง การพัฒนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีความเป็นเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกเพื่อเชื่อมโยงสื่อสารทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพในด้านต่างๆ จะต้องทำงานประสานร่วมกันเป็นเครือข่ายทั้งมหาวิทยาลัยและภายนอก
นอกจากนั้น ผมอยากจะฝากนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีทุกท่านได้ก้าวทันระบบ ๓G และระบบ ๓G ที่ว่า คือ
G ตัวที่ ๑ คือ Growth การเจริญเติบโต หมายถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีการเจริญเติบโตมีความพร้อมที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคมและประเทศชาติ
G ตัวที่ ๒ คือ Good ความดี หมายถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีสร้างความดีให้กับตัวเองและสังคม พร้อมทั้งสัญญาว่าจะทำความดีให้กับประเทศชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์
G ตัวที่ ๓ คือ Globalisation โลกาภิวัฒน์ หมายถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นผู้ที่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในด้านต่างๆ อันจะสามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หากทุกส่วนของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้นำ Ubon Model และนักศึกษารู้ซึ้งในระบบ ๓G ข้างต้นแล้ว ผมเชื่อว่าความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจะเจริญและพัฒนาอย่างยั่งยืน
อ้างอิง
อ้างอิง